ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ถวิล" ชี้ "พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ" หมดความจำเป็นต้องเลิกทันที เหตุลิดรอนสิทธิ์ประชาชน

การเมือง
22 พ.ย. 55
09:36
135
Logo Thai PBS
"ถวิล" ชี้ "พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ" หมดความจำเป็นต้องเลิกทันที เหตุลิดรอนสิทธิ์ประชาชน

"ถวิล เปลี่ยนศรี" ระบุ พ.ร.บ.ความมั่นคง ลิดรอนสิทธิ์เสรีภาพประชาชนหากหมดความจำเป็นต้องเลิกทันที พร้อมย้ำกฏหมายดังกล่าวอำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ฝ่ายการเมืองต้องร่วมรับผิดชอบในเหตุการณ์ด้วย

นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ว่า จากการประเมินคาดว่า จะมีประชาชนมาร่วมชุมนุมทางการเมืองกับองค์กรพิทักษ์สยามในวันที่ 24 พ.ย.นี้มากกว่าครั้งก่อนหน้านี้ ซึ่งคนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเพราะต้องการแสดงพลังเรียกร้องจึงออกมาเคลื่อนไหวเพราะหลายเรื่องที่รัฐบาลฟังเสียงประชาชน อาทิ การทุจริตคอร์รัปชัน ธรรมาภิบาล การจาบจ้วงสถาบัน จึงมีประชาชนอยากออกมาเดินบนท้องถนน ดังนั้นในฐานะรัฐบาลต้องมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย

อดีตเลขาฯ สมช.กล่าวอีกว่า การชุมนุมของ อสพ.มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง โดยจุดอ่อนคือการประกาศ “แช่งแข็งประเทศไทย” ของ พล.อ.บุญเลิศ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการนำพาประชาธิปไตยถอยหลังลงคลอง แต่มีจุดแข็งที่ยังทำให้ประชาชนมาร่วมชุมนุม คือ ความรู้สึกร่วมว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มีธรรมาภิบาลเรื่องโยกย้ายข้าราชการ การทุจริตคอร์รัปชัน และ การจาบจ้วงสถาบัน

ส่วนการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ของรัฐบาลนั้น นายถวิล มองว่า กฎหมายในการดูแลความสงบเรียบร้อยมี 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ความมั่นคง , พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน และ กฎอัยการศึก โดยกฎหมายทุกฉบับฝ่ายการเมืองต้องร่วมรับผิดชอบ แตกต่างจากการใช้กฎหมายปกติที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติเป็นผู้รับผิดตามกฎหมาย

ทั้งนี้หลักการใช้กฎหมาย 3 ฉบับ คือ ใช้ในสถานการณ์ที่จำเป็นจริงๆ มีมาตรการ หรือ พื้นที่สำคัญที่ต้องประกาศควบคุมสถานการณ์ และ เมื่อหมดความจำเป็นต้องเลิกทันที เพราะกฎหมายดังกล่าวลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่กฎหมายเหล่านี้จะเป็นเกราะคุ้มกันเจ้าหน้าที่ในการทำงานเพื่อให้สามารถใช้อำนาจในการดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชนได้เต็มที่ โดยเป็นการโอนอำนาจจากกฎหมายมาอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีเพื่อโอนต่อมาอยู่ในมือผู้บัญชาเหตุการณ์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง