ห่วงมีน้ำใช้ไม่เพียงพอ ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้อยที่สุด วอนงดปลูกข้าว
นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ. และผลการระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง ปี 2555/56 ที่ผ่านมาร่วมหนึ่งเดือนแล้วว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ. ณ ปัจจุบัน มีอยู่ 45,655 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 74 ของความจุ น้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 19 หรือ -10,391 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้ 22,611 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำเกือบทุกแห่งมีปริมาณน้ำในอ่างน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 36 และร้อยละ 40 ตามลำดับ
ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างในปีนี้นับว่าอยู่ในเกณฑ์ปีน้ำน้อย โดยเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 14,768 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 8,118 ล้าน ลบ.ม. ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำปี 2552 ซึ่งเป็นปีน้ำน้อยจนต้องมีการควบคุมการใช้น้ำอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี คณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ได้วางแผนการเพาะปลูกและแผนการจัดสรรน้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุน โดยวางแผนจัดสรรน้ำจากเขื่อนทั้งสองเพื่อโครงการชลประทานเจ้าพระยาในช่วงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2556 (6 เดือน) ทั้งสิ้น 6,800 ล้าน ลบ.ม. โดยในเดือนพฤศจิกายน 2555 ระบายน้ำได้ตามแผน 1,060 ล้าน ลบ.ม. เป็นการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล 544 ล้าน ลบ.ม. จากขื่อนสิริกิติ์ 516 ล้าน ลบ.ม. ยังเหลือปริมาณน้ำที่จะระบายตลอดฤดูแล้งอีก 5,740 ล้าน ลบ.ม.
เมื่อเสร็จสิ้นการระบายน้ำช่วงฤดูแล้งแล้วยังเหลือน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณ 2,379 ล้าน ลบ.ม.อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันตก ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ มีน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งสองรวมกัน 23,332 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 88 ของความจุ มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 10,055 ล้าน ลบ.ม. ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว มีแผนการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2556 ทั้งสิ้น 7,000 ล้าน ลบ.ม. ในปริมาณน้ำจำนวนนี้เป็นน้ำที่จะผันไปช่วยลุ่มน้ำจ้าพระยาตอนล่าง 1,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่อ่างเก็บน้ำในภาคอีสานมีน้ำน้อยจนน่าเป็นห่วง คณะทำงานฯ ได้ประกาศให้หลายพื้นที่งดการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และบางพื้นที่ให้มีการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน
ในส่วนของเขื่อนอุบลรัตน์ที่ส่งน้ำให้กับโครงการชลประทานหนองหวาย จังหวัดขอนแก่นนั้น ปีนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยมาก ส่งผลให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำน้อย ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้งานได้เหลืออยู่เพียง 445 ล้าน ลบ.ม. ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำในปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่ภาคอีสานมีพื้นที่ประสบภัยแล้งสูงสุด เขื่อนอุบลรัตน์จึงมีแผนการระบายน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาลำน้ำในอัตราวันละ 0.8 ล้าน ลบ.ม. โดยเกษตรจำเป็นต้องงดเว้นการปลูกข้าวนาปรัง
“แม้สถานการณ์น้ำในปีนี้มีน้อย แต่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เราเคยประสบปัญหาเช่นนี้ และสามารถบริหารจัดการน้ำให้ผ่านพ้นมาได้ด้วยดี จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรและทุกคนใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่ขยายพื้นที่เพาะปลูกเกินกว่าแผนที่คณะทำงานได้กำหนดไว้อย่างเหมาะสม แม้ว่าปัจจุบันยังมีฝนตกเป็นระยะๆ แต่หลังจากหนึ่งหรือสองเดือนไปแล้ว ปริมาณฝนจะลดลง หากเกษตรกรมีการเพาะปลูกเกินแผน ปริมาณน้ำอาจมีไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดความเสียหายตามมา” ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. กล่าว