ภาพยนตร์ไทยสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 390 ล้าน
แม้ใช้นักแสดงระดับแม่เหล็กชั้นนำมากมายและกำกับโดย 3 ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง แต่ “รัก 7 ปีดี 7 หน” ไม่สามารถทำรายได้ตามเป้า เช่นเดียวกับภาพยนตร์แอนิเมชันสัญชาติไทย ซึ่งใช้เวลาสร้างถึง 6 ปีกับทุนกว่า 100 ล้านบาท แต่ “ยักษ์” กลับขาดทุนกว่าครึ่ง ความล้มเหลวของภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 2555 สะท้อนภาวะซบเซาของวงการหนังไทยที่ปีนี้ออกฉายกว่า 40 เรื่อง แต่มีเพียงภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้ “ATM เออรัก เออเร่อ” เท่านั้นที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท และ เห็นได้ชัดเจนเมื่อเทียบกับปี 2554 ที่แม้มีวิกฤตอุทกภัย ยังมีหนังร้อยล้านบาทถึง 3 เรื่อง ทั้ง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ภาค 3 ภาค 4 และ “ลัดดาแลนด์” มาตรการส่งออกภาพยนตร์ไทยไปต่างประเทศ คือ อีกทางที่สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติใช้แก้ปัญหาให้สมาชิกหวังเก็บรายได้ทดแทนตลาดภายในประเทศ
ตัวเลขรายได้เกือบ 400 ล้านบาท จากการผลักดันภาพยนตร์ไทยไปตีตลาดใหญ่อย่าง Asian Film Market ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ที่เกาหลีใต้ และ American Film Market ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่เพียงเป็นความสำเร็จของสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติที่ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ แต่ยังต่อยอดให้ผู้สร้างหนังรายย่อยของไทยได้พบปะผู้ซื้อต่างชาติ สัญญาณที่ดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
ซึ่งเป้าหมายต่อไปคือการบุกตลาดภาพยนตร์ใหญ่อย่างจีน ซึ่งมีอุปสรรคสำคัญคือกฎหมายโควต้าภาพยนตร์ต่างประเทศที่อนุญาตให้ฉายได้ปีหนึ่งไม่เกิน 50 เรื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียงภาพยนตร์ไทยอย่าง "องค์บาก" ที่ฝ่ากำแพงโควต้าภาพยนตร์เข้าฉายในจีนแผ่นดินใหญ่ได้สำเร็จ
ภาพยนตร์ไทยสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 240,000 ล้านบาทต่อปี และ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยภาพยนตร์แนวแอ็กชั่น สยองขวัญยังคงได้รับความนิยมจากตลาดต่างชาติ ส่วนหนังรักสัญญาติไทยกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในแถบเอเชีย โดยการส่งเสริมการส่งออกอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไปต่างประเทศจึงเป็นอีกทางช่วยในการช่วยพยุงคนทำหนังไทยให้ยังมีกำลังใจในการสร้างผลงานในขณะเดียวกันยังสร้างภาพความเป็นหนังไทยให้ชัดยิ่งขึ้นบนเวทีภาพยนตร์โลก