ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลปกครองนัดฟังคำสั่ง ประมูล 3 จี วันนี้ (3 ธ.ค.)

Logo Thai PBS
ศาลปกครองนัดฟังคำสั่ง ประมูล 3 จี วันนี้ (3 ธ.ค.)

ศาลปกครองกลาง นัดฟังคำสั่งศาล กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นฟ้อง กสทช.กรณีการประมูล 3 จี ในวันนี้(3 ธ.ค.) โดยมีการตั้งข้อสังเกตผลการพิจารณาคดีในครั้งนี้ไว้ 3 แนวทาง คือ สั่งคุ้มครองให้ยกเลิกการประมูล ไม่มีคำสั่งคุ้มครองแต่รับฟ้องคดี หรือ อาจจำหน่ายคดี หลังไม่มีคำสั่งคุ้มครองและไม่รับฟ้องคดี

วันนี้ (3 ธ.ค.) เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลาง มีหมายแจ้งนัดคู่กรณีมาฟังคำสั่งศาลปกครองกลาง ในคดีระหว่าง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะผู้ฟ้องคดี กับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี ในประเด็นเกี่ยวกับคำเสนอเรื่องพร้อม ความเห็น และคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดี

สำหรับกรณีนี้ มีคำร้องให้ศาลพิจารณา คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ ขอให้เพิกถอนการดำเนินการสำนักงาน กสทช. ในการจัดการประมูล 3G โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน ฟ้องว่า กสทช. ได้จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ตามประกาศคณะกรรมการ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่านความถี่ 2.1GHz พ.ศ.2555 พร้อมทั้งออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการดำเนินการพร้อมทั้งประกาศที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว และขอให้ชะลอการอนุญาตดังกล่าวไว้ก่อน

ด้าน นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวเรียกร้องให้ จับตาดูผลการพิจารณาของศาลปกครองว่า จะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวกรณีการประมูล 3จี หรือไม่ ซึ่งคำสั่งศาลอาจจะออกมา 3 แนวทาง คือ
1. ถ้าศาลพบว่า การประมูลครั้งนี้ ไม่มีการแข่งขันกันจริง ทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย ศาลอาจมีคำสั่งยกเลิกการประมูล และให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค.ไปจัดประมูลใหม่
2. อาจจะไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่ศาลอาจรับฟ้อง ซึ่งจะมีปัญหาตามมาว่า กทค.จะกล้าออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการหรือไม่ เพราะอาจมีปัญหาตามมาในภายหลัง
3. ศาลอาจจะไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และไม่รับฟ้อง จำหน่ายคดีไปในคราวเดียวกันด้วย ซึ่ง กทค.ก็ยังต้องไปลุ้นต่อ ในกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพราะ ป.ป.ช.จะชี้ประเด็นเฉพาะคดีอาญา ความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157


ข่าวที่เกี่ยวข้อง