จับตาปมทุจริตงบพัฒนาฝีมือแรงงาน เหตุขัดแย้งภายใน
ฝ่ายการเมืองเข้าไปข้องเกี่ยวกับปัญหาภายในของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอย่างเด่นชัดขึ้น หลังจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ตอบรับการหารือจากนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล
วันที่ 27 พ.ย.ฝ่ายแรก นายพยุงศักดิ์ เข้าหารือกับ นายกิตติรัตน์ ภายหลังจากถูกกรรมการจำนวนหนึ่งลงคะแนนเลือกประธานคนใหม่
แต่ถัดมาอีก 2 วัน นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรม เข้าพบนายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ภายหลังจากมั่นใจว่าการลงคะแนนเลือกนายสันติ วิลาสศักนานนท์ เป็นประธานสภาอุตสหากรรมคนใหม่ ทำอย่างถูกต้องแล้ว และชี้แจงเหตุผลที่นายพยุงศักดิ์ กำลังเบี่ยงเบนว่าความไม่พอใจของกรรมการส่วนใหญ่ ที่ต้องการปลดจากตำแหน่งประธาน ด้วยข้อกล่าวหาการตรวจสอบทุจริตงบประมาณโครงการของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
โครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้าง จากภัยพิบัติ ปี 2554 ใช้งบประมาณกลาง 61,500,000 บาท เพื่อให้สถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม ส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมไม่ต่ำกว่า 15,000 คน เป็นโครงการขิองกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแต่ละจังหวัดที่ประสบภัยพิบัติ
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดงบประมาณผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ส่งต่อให้สถานประกอบการเป็นค่าใช้จ่ายอบรมพนักงาน 10 วัน จำนวน 750 รุ่น รุ่นละไม่เกิน 20 คน ระหว่างเดือน พ.ย.54 - 31 มี.ค.55
ในช่วงเดือน ส.ค.ไทยพีบีเอสเปิดเผยการทุจริตประเด็นดังกล่าว จากผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการรายหนึ่ง ในจังหวัดลพบุรี ว่า ได้รับเงินเพียงค่าใช้จ่ายฝึกอบรม 35,000 บาท จากที่จ่ายไปก่อนล่วงหน้าแล้ว 81,600 บาท หรือ มีเงินส่วนเกินหายไป 46,600 บาท หากคำนวน ว่าจังหวัดลพบุรีจัดอบรม 150 รุ่น จึงมีความเป็นไปได้ว่า มีเงินส่วนที่ขาดหายไปเกือบ 7,000,000 บาท
นายสนอง ป่าธนู ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ลพบุรี ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ ชี้แจงว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงานจ่ายเงินผ่านทางนายอำนาจ นันทหาร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาอีกทอดหนึ่ง และระบุว่ารัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุนมารุ่นละเพียงแค่ 51,000 บาท ข้อมูลนี้จึงไม่ตรงกับข้อมูลจากเอกสารโครงการ
ต่อมา มีผู้ส่งอีเมล์จากต่างประเทศให้กรรมการ ส.อ.ท.ทุกคน เพื่ออธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นพร้อมหกับข้อมูลที่ไทยพีบีเอสเปิดเผย จากนั้น กลางเดือน ก.ย.ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. และแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง มีนายสุชาติ วิสุวรรณ รองประธาน ส.อ.ท. เป็นประธาน กำหนดกรอบสอบสวนภายใน 30 วัน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า
มีรายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน ว่า แต่ละปีโครงการลักษณะนี้ หรือ โครงการเร่งด่วนหลายโครงการก็ใช้วิธีการเดียวกัน เนื่องสภาอุตสาหกรรม หรือหอการค้าจังหวัด มีรายละเอียดผู้ประกอบการ ขณะที่มีข้อมูจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลจึงไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆเองได้ ตามระเบียบต้องให้ที่ประชุมกรรมการบริหารอนุมัติ
ปมการตรวจสอบทุจริตโครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างจากภัยพิบัติ จึงอาจเป็นอีกปมปัญหาขัดแย้งของสภาอุตสาหกรรม และกรรมการสภาอุตสาหกรรมที่เรียกร้องกดดันให้ปลดนายพยุงศักดิ์ ก็เป็นฝ่ายสภาอุตุสากรรมจังหวัดที่อาจถูกมองว่า เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล