ยุทธศาสตร์จัดการหนี้นอกระบบ ..แค่ “กฎหมาย” ยังไม่พอ
เมื่อศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งขึ้นและดำเนินการต่อเนื่องโดยได้รับมอบหมายภารกิจจาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ปฎิบัติงานอย่างเข้มข้นทำความยุติธรรมให้เกิดขึ้นและมีความเป็นธรรมโดยเสมอภาคตามครรลองกฎหมาย
สำหรับภารกิจในการจัดการปัญหาหนี้นอกระบบที่ซ้ำเติมปัญหาหนี้สินภาคประชาชนนั้น เพื่อให้การแก้ปัญหาทำได้จริง พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะเลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้ศึกษาเชิงลึกถึงปัญหาหนี้นอกระบบ โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษา “หนี้นอกระบบจังหวัดชัยภูมิ” ซึ่งเป็นอีกกรณีที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯได้เข้าให้ความช่วยเหลือ
“หนี้นอกระบบจังหวัดชัยภูมิ” เป็นกรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ เข้าร้องเรียนและขอความช่วยเหลือจากกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากถูกเจ้าหนี้ในพื้นที่ฟ้องร้องและบังคับคดียึดทรัพย์สิน ที่ดินทำกิน และบ้านพักอาศัยอย่างไม่เป็นธรรม โดยจากการตรวจสอบข้อมูลกับสำนักงานบังคับคดีจังหวัดชัยภูมิ สาขาภูเขียว ปรากฏว่าเจ้าหนี้รายนี้มีการฟ้องร้องและบังคับคดีลูกหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมนอกระบบ จำนวน 495 ราย รวมทุนทรัพย์กว่า 100 ล้านบาท และมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาชั้นศาลและยังไม่ได้ฟ้องอีกจำนวนหนึ่ง ในจำนวนลูกหนี้ดังกล่าวนี้มี 57 รายที่เคยขึ้นทะเบียนลูกหนี้ตามโครงการลงทะเบียนหนี้นอกระบบของรัฐบาลเมื่อปี 2552-2553 ซึ่งจังหวัดชัยภูมิมีลูกหนี้ที่ลงทะเบียนมากถึง 30,337 ราย
พ.ต.ท.วิชัย กล่าวว่า กรณีหนี้นอกระบบ จ.ชัยภูมิ เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2540 - 2547 โดยเจ้าหนี้ซึ่งเป็นนายทุนเงินกู้ มีพฤติการณ์จัดหาคนงานแถบภาคอีสานไปทำงานต่างประเทศผ่านบริษัทจัดหางาน โดยนายทุนจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศให้กับลูกหนี้ก่อน แล้วให้ลูกหนี้ทำสัญญากู้ยืมเงินในจำนวนที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายจริง จากนั้นให้ผู้กู้นำญาติพี่น้องมาทำสัญญาค้ำประกัน และยึดเอกสารสิทธิ์ที่ดินเป็นหลักประกัน
โดยเกือบทุกรายเจ้าหนี้จะให้ผู้กู้ ผู้ค้ำประกันเซ็นชื่อในสัญญาเปล่าที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ และก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศจะให้ลูกหนี้หรือญาติเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารและทำบัตรเอทีเอ็ม ให้นายทุนยึดไว้เพื่อเบิกถอนเงินที่โอนมาจากต่างประเทศ หักชำระค่าใช้จ่ายที่ผู้กู้ยืมไป โดยจะหักชำระค่าดอกเบี้ยก่อนในอัตราร้อยละ 3-5 บาทต่อเดือน ที่เหลือจะหักชำระเงินต้น โดยเจ้าหนี้จะเก็บหลักฐานการหักเงินไว้ ไม่แจ้งให้กับลูกหนี้หรือญาติทราบ บางรายถูกหักเงินจนเกินค่าใช่จ่าย
เมื่อลูกหนี้เดินทางกลับจากต่างประเทศ เจ้าหนี้จะปล่อยให้เวลาล่วงเลย แล้วจึงไปกรอกรายละเอียดในสัญญากู้ยืมเงินในจำนวนเงินที่สูงกว่าความจริงแล้วนำไปฟ้องลูกหนี้และผู้ค้ำประกันให้รับผิด ชดใช้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ย
จากการลงพื้นที่ จ.ชัยภูมิ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและประชุมเชิงปฏิบัติการ พบว่ามีปัญหาหนี้นอกระบบที่เกิดขึ้นมีรูปแบบหลากหลาย ทั้งปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบทางด้านกฎหมาย ความเดือนร้อนจากการถูกฟ้องร้องอย่างไม่เป็นธรรม (ฟ้องร้องเกินกว่ามูลหนี้จริง) , ความไม่รู้กฎหมาย (ลูกหนี้นอกระบบส่วนใหญ่การศึกษาน้อย ไม่รู้กฎหมายและช่องทางในการต่อสู้คดี), ปัญหาในด้านการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม(ลูกหนี้ไม่มีเงินจ้างทนายความในการต่อสู้คดี เมื่อถูกฟ้องแล้วไม่ไปศาล หรือยอมความตามสัญญาที่เจ้าหนี้นำมาฟ้อง) , ปัญหาด้านการอำนวยความยุติธรรม(หน่วยงานภาครัฐยังขาดประสานงานและทำงานเชิงรุกในการเข้าถึงประชาชน), ปัญหาจากหน่วยงานที่มีหน้าที่อำนวยความยุติธรรม, ปัญหาด้านสังคม และการเข้าถึงระบบสินเชื่อสถาบันการเงิน
ปัญหาหนี้นอกระบบ จ.ชัยภูมิ ส่วนใหญ่เกิดกับประชาชนที่อยู่ในภาคเกษตร มีที่ดินทำกิน แต่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ โดยคาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า พอเลี้ยงชีพและเหลือเก็บออม แต่กลับถูกนายทุนหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ และละเมิดกฎหมาย เมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ได้รับความเดือดร้อนเหล่านี้จึงถือเป็นเหยื่อจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากสังคมอย่างไม่เป็นธรรม
ขณะที่องค์กรภาครัฐมีความอ่อนแอในการปกป้องดูแลสังคม การป้องกันจึงต้องเสริมสร้าง “ศักยภาพ” ของประชาชนในทุกด้าน และเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะต้องบูรณาการร่วมมือกัน เพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อลดความเลื่อมล้ำ สร้างความเชื่อมั่นและความเป็นธรรมให้กับสังคม
เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ กล่าวว่า กรณีหนี้นอกระบบในจังหวัดชัยภูมิ เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม ระหว่างผู้มีฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ โดยฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ กับกลุ่มประชาชนในชนบทที่มีฐานะยากจน ขาดความรู้และไม่มีอำนาจต่อรอง จึงถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มขึ้นมาก ที่สำคัญประชาชนเหล่านี้เมื่อถูกเจ้าหนี้ฟ้องก็ไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมด้วยการต่อสู้คดีตามครรลองกระบวนการยุติธรรมทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบและแพ้คดีในที่สุด
จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าลูกหนี้ทั้ง 495 คดี เมื่อถูกฟ้องแล้วลูกหนี้ขาดนัดพิจารณาคดี(ทิ้งหมายไม่ไปศาล)ร้อยละ 36.93 ยอมความในชั้นศาลร้อยละ 52.27 และมีทนายความต่อสู้คดีเพียงร้อยละ 7.8
“การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจึง ไม่ใช่แค่การปราบปรามเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบเพียงอย่างเดียว แต่ควรเน้นการแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาศักยภาพทางปัญญา สร้างความรู้ ความคิด และความเข้าใจ ให้ประชาชนรู้เท่าทันกลโกงในรูปแบบต่างๆ และเมื่อถูกฟ้องแล้วจะมีช่องทางในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร ประเด็นสำคัญภาครัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนส่งเสริมเพื่อลดความเหลือมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่องจริงจัง”
ทั้งนี้ ผลการศึกษา เสนอ 6 แนวทางเพื่อทำเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างความเป็นธรรมอันเนื่องมาจากปัญหาหนี้นอกระบบ คือ
1.การพัฒนาศักยภาพประชาชน โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการดำรงชีพด้วยวิถีพอเพียง เข้าถึงสินเชื่อของระบบสถาบันการเงิน และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและเรียนรู้ความเสี่ยงในการเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบ
2.การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม สนับสนุนให้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น การรวมกลุ่มกันเป็นอาสาสมัคร การแจ้งเบาะแสป้องกันอาชญากรรม และมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม
3.การบังคับใช้กฎหมาย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำกับดูแลตามกรอบอำนาจโดยเคร่งครัดและกรณีที่มีการละเมิดต่อกฎหมายจะต้องดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังทันทีโดยเฉพาะเจ้าหนี้นอกระบบที่ใช้อำนาจอิทธิพลข่มขู่เป็นขบวนการ
4.การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกหนี้ผู้ด้อยโอกาสและถูกละเมิดต่อกฎหมายให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งทางแพ่งอาญาอย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและเป็นธรรม
5.หน่วยงานภาครัฐเช่นกระทรวงการคลัง หรือสถาบันการเงินของรัฐควรมีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงระบบสินเชื่อได้อย่างง่าย สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ หน่วยงานภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนในการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่เพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบ
6. องค์กรจัดการ การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมายังไม่เป็นองค์รวมขาดความต่อเนื่อง ขาดผู้รับผิดชอบหลัก มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ มีลักษณะต่างคนต่างทำเฉพาะบทบาทหน้าที่ของตนเอง ขาดการบูรณาการ มีข้อเสนอควรจัดรูปแบบองค์กรในระดับชาติที่มีหน้าที่ทำยุทธศาสตร์ชาติและแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ลดขั้นตอน ลดความซ้ำซ้อน มีกระบวนการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ รวดเร็ว และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ถือเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะต้องร่วมมือร่วมใจแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะสื่อสารมวลชน ควรมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือและตีแผ่ความไม่ถูกต้องชอบธรรม เพื่อให้สังคมได้รับรู้และช่วยผลักดันอีกทางหนึ่ง