ผลสำรวจในกลุ่มเด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -6 ประมาณ 5,000,000 คน พบว่าเป็นโรคสมาธิสั้นหรือโรคเอดีเอชดี หรือที่เรียกกันติดปากว่า โรคไฮเปอร์แอคทีฟ มีจำนวน 310,000 คน ทั้งนี้รายงานของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ราชนครินทร์ พบว่าเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้หากไม่รักษา จะทำให้ 2 ใน 3 หรือประมาณร้อยละ 70 ของเด็กที่ป่วยมีอาการจนถึงเป็นผู้ใหญ่ จะมีผลเสียต่อทั้งต่อเด็กและสังคม โดยพบว่า 1 ใน 4 ทำผิดกฎจราจร มีบุคลิกก้าวร้าว อีก 1 ใน 10 มีปัญหาใช้สารเสพติด หรือมีปัญหาสุขภาพจิตถึงขึ้นพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งมีร้อยละ 5 ที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จ แต่หากรักษาตั้งแต่ยังเด็กสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยมักพบในเด็กชาย
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคสมาธิสั้น เกิดในวัยเด็กก่อนอายุ 7 ขวบ ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริง แต่มักจะพบในผู้หญิงที่สูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้าระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็ก ไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อน เด็กกลุ่มนี้จะมีระดับไอคิวปกติ อาการที่เป็นสัญญานโรค จะปรากฎเห็นชัดเจน 3 อาการ ได้แก่ ขาดสมาธิ ขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง และซุกซน
เด็กสมาธิสั้น จะมีปัญหาการเรียน หรือเรียนได้แต่ไม่เต็มศักยภาพ ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ปกครองและครูที่ดูแลเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น เรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้องเพื่อช่วยในการจัดการ กับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็ก การตีหรือการลงโทษทางร่างกายใช้ไม่ได้ผลและจะยิ่งทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธหรือแสดงพฤติกรรมต่อต้านและก้าวร้าวมากขึ้น ตรงกันข้าม ควรให้คำชมหรือรางวัลเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม หรือควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้
วิธีสังเกตว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น คือ เด็กจะไม่สามารถทำงานที่ครูหรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จ ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น มักไม่ค่อยฟังเวลาพูดด้วย วอกแวกง่าย ขี้ลืมบ่อย ๆ ทำงานผิดพลาดบ่อย ทำของใช้หรือของส่วนตัวหายบ่อย/ รวมทั้งจะซุกซนอยู่ไม่สุข นั่งไม่ติดที่ หรือชอบนั่งโยกเก้าอี้ ชอบวิ่ง หรือปีนป่ายสิ่งต่าง ๆ พูดมาก พูดไม่หยุด ตื่นตัวตลอดเวลาหรือดูตื่นเต้นง่าย ชอบโพล่งคำตอบเวลาครูหรือพ่อแม่ถามโดยที่ยังฟังคำถามไม่จบ
หากพบว่าลูกหลานมีอาการเหล่านี้ ขอให้ปรึกษาจิตแพทย์ สามารถโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ 1667 หรือสอบถามที่สายด่วนวัยรุ่นของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ 02-248-9999