ในเวทีแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ "บทบาทของสื่อกับงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน"ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ,มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และเครือข่ายองค์กรด้านเด็กเร่ร่อนจัดขึ้น ทางเครือข่ายทำงานด้านเด็กเร่ร่อน มองว่า ปัจจุบันประเด็นเด็กเร่ร่อนได้รับความสนใจจากสื่อทุกแขนงมากขึ้นทั้ง โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ รวมถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่เผยแพร่เรื่องราว เข้าถึงการรับรู้ของประชาชนในวงกว้าง ทำให้คนทำงานด้านเด็กเร่ร่อนต้องปรับบทบาทหน้าที่ และเข้าถึงสื่อเหล่านี้ให้มากขึ้น
ขณะเดียวกันบทบาทของสื่อยังช่วยสะท้อนการทำงานของเครือข่ายองค์กรด้านเด็กเร่ร่อน จนนำไปสู่การส่งต่อความช่วยเหลือ การสนับสนุนจากภาคประชาสังคม ทำให้การสะท้อนปัญหาผ่านสื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แม้หลากหลายประเด็นที่ถูกนำเสนอจะเป็นเพียงกระแส และอยู่ในความสนใจเพียงไม่นาน แต่สามารถช่วยสร้างความตระหนัก และตื่นตัวในการแก้ปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
เครือข่ายทำงานด้านเด็กเร่ร่อน บอกด้วยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงมหาดไทย ควรเห็นความสำคัญของเครือข่าย องค์กรต่างๆ ในการทำงานควบคู่กันไป เพื่อแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อน เพราะที่ผ่านมาบทบาทของเครือข่าย ทั้งจากการทำงานที่ใกล้ชิดกับปัญหา และการมีพื้นที่เพื่อสะท้อนปัญหาผ่านสื่อ กลับถูกตั้งคำถามถึงหน้าที่ความรับผิดชอบจากหน่วยงานเหล่านี้ จึงเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเปิดใจยอมรับ และแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อนร่วมกันอย่างจริงจัง