กูรูการค้า แนะลงทุนในเพื่อนบ้าน ต้องติดอาวุธผู้ประกอบการไทย ไม่ให้เกิดการเสียเปรียบคู่ต่อสู้
นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนาของสำนักข่าวเอซีนิวส์ เรื่อง “เปิดโอกาสการลงทุนนักธุรกิจไทยในประเทศเพื่อนบ้าน” หัวข้อ “มิติการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านกับโอกาสของธุรกิจไทย” ที่ ห้อง เคทีซี ป๊อบ อาคารสมัชชาวาณิช 2 โดยระบุว่า ในกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนลาว พม่า และเวียดนาม ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบประเทศอื่น เนื่องจากภูมิประเทศของไทยอยู่ตรงกลางระหว่างประเทศเหล่านั้น และมีพื้นที่ตามแนวชายแดนติดกัน โดยพม่า ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพทั้งด้านพื้นที่และประชากร ที่เหมาะกับการเข้าไปลงทุน และเป็นตลาดที่สำคัญในอนาคต เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ มีศักยภาพต่อการลงทุนทั้งด้านอุตสาหกรรม บริการ การค้าขาย และการเกษตรทุกประเภท แต่พม่าก็มีปัญหาด้านการขาดแคลนไฟฟ้า
ขณะที่กัมพูชาเป็นประเทศที่พร้อมรับการลงทุน และนักลงทุนสามารถเข้าไปลงทุนได้ทันที เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เนื่องจากมีประชากร 14 ล้านคน ค่าจ้างแรงงานประมาณ 100-120 บาท/วัน โดยอุตสาหกรรมที่เหมาะกันการลงทุนจะเป็นอุตสาหกรรมเบา เพราะเป็นประเทศที่ส่งออกเครื่องนุ่งห่มมากกว่าไทย แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง คือ ไฟฟ้าที่มีไม่เพียงพอ และกฎหมาย รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานในที่ห่างไกลยังมีอันตรายจากกับระเบิด ส่วนลาวเป็นประเทศที่มีประชากรน้อยเพียง 6.99 ล้านคน จึงมีปัญหาเรื่องแรงงานที่ไม่สามารถรองรับการลงทุนที่ใช้แรงงานมาก เป็นประเทศที่เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของประชาชนมากกว่าด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นอุตสาหกรรมที่ควรเข้าไปลงทุน ควรเป็นกลุ่มที่เกี่ยวกับการเกษตร หรือสังคมเชิงเกษตร รวมทั้งการท่องเที่ยวธรรมชาติ
ด้าน นางอรนุช ผการัตน์ ประธานสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจไทยในกัมพูชา กล่าวถึงการ “เปิดช่องทางลัดสู่ธุรกิจบริการในประเทศกัมพูชา”ว่า กัมพูชายังเป็นโอกาสของการลงทุน โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวชายแดน ซึ่งธุรกิจที่ควรลงทุน ได้แก่ ธุรกิจเกษตร ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจโลจิสติกส์ โทรคมนาคม เนื่องจากกัมพูชาเป็นประเทศที่กำลังเร่งพัฒนา แต่ไม่สามารถผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้เพียงพอต่อความต้องการ และยังมีค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่าไทย รวมทั้งรัฐบาลยังให้การสนับสนุนการลงทุน ทั้งในเรื่องการยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าที่ใช้ในการผลิต” นางอรนุช กล่าว
สำหรับดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย บรรยายหัวข้อ “จับกระแสการเงินการลงทุนในประเทศเวียดนาม” ระบุว่า เวียดนามนับเป็นประเทศที่มีศักยภาพแห่งหนึ่ง แต่มีปัจจัยที่ต้องระวัง เพราะเป็นประเทศที่ขยายตัวสูงแต่ขาดเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ และเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกในการขยายตัวของเศรษฐกิจเหมือนกับประเทศไทย ซึ่งในอนาคตอาจมีปัญหาการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่วนเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้า ส่วนใหญ่เป็นเงินร้อนที่ไหลเข้าตลาดหุ้นมากกว่าลงทุนโดยตรง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการไหลออกของเงินทุน
สำหรับประเด็นการลงทุนในพม่า นายธันวา มหิทธิวาณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัทวี-เวนทิส พูดถึงการเจาะลึกกฎหมายลงทุนในประเทศพม่าว่า การปรับปรุงกฎหมายของพม่าล่าสุดที่เกี่ยวกับการลงทุน หรือ Foreign Investment Law เป็นกฎหมายที่กำหนดว่า นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในธุรกิจใดได้บ้าง ขณะเดียวกันก็ระบุเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ทำให้มีความชัดเจนในการเข้าไปลงทุนในพม่ามากขึ้น เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติ โดยเนื้อหาของกฎหมายจะเน้นเกี่ยวกับการถือหุ้น และการจดทะเบียนของบริษัทต่างชาติ จะมีขั้นตอนอย่างไร เงินทุนในการจดทะเบียนต้องชำระอย่างไร ด้านแรงงานระบุเกี่ยวกับเงื่อนไขการจ้างแรงงานพม่าในบริษัทต่างๆ ต้องมีสัดส่วนเท่าใดของแรงงานในบริษัทนั้น นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังระบุถึงขั้นตอนการโอนเงินออกนอกประเทศ และภาษีที่ต้องชำระให้กับรัฐบาล
ด้านนายทักษ์ ศรีรัตโนภาส ผู้อำนวยการร่วมทุนและการค้าระหว่างประเทศ บริษัทน้ำตาลมิตรผล พูดถึงเรื่อง “ผ่าธุรกิจการเกษตรและระบบการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศลาว” ว่า สปป.ลาว วางแผนที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นแบบสวิสเซอร์แลนด์ ในการขายธรรมชาติ ด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาธรรมชาติ เพื่อจะได้มีน้ำมาปั่นไฟ และนำไฟมาขาย สร้างรายได้ต่อหัวประชากรสูงขึ้น โดย สปป.ลาวมองตัวเองเป็นแบตเตอรี่ของอาเซียน เป็นตัวที่คอยชาร์ตไฟให้กับอาเซียน
ฉะนั้นถ้าลาวสามารถบริหารจัดการเรื่องนี้ได้ดี สปป.ลาวจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่น่าลงทุน แต่ยังติดปัญหาเรื่องแรงงานที่มีจำนวนน้อย การจะลงทุนในลาวให้ประสบผลสำเร็จ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ต้องเข้าใจภาษาและวัฒนธรรม ต้องเข้าถึงชุมชน และต้องหาจุดแข็งของตนเองให้เจอ รวมถึงต้องมองและพัฒนาธุรกิจไปในระยะยาว โดยอาศัยการผลิตสินค้าที่สามารถต่อยอดไปผลิตสินค้าประเภทอื่นภายใต้วัตถุดิบเดียวกัน