ภาวะการตายด่วนในกุ้ง
การยกยอสำรวจกุ้งภายในชมรมผู้เลี้ยงกุ้ง จังหวัดระยองในช่วงเช้าวันนี้ พบว่า กุ้งยังมีความแข็งแรงและกินอาหารได้ตามปกติ แต่ก็มีขนาดเล็กกว่าที่ควรจะเป็น นี่เป็นวิธีสังเกตและเฝ้าระวังการตายด่วนในกุ้งขาวสายพันธุ์แวนนาไมด์ ที่ทำให้กุ้งวัย 9-10 วัน ที่เพิ่งจะถูกปล่อยเลี้ยงในบ่อตายไปโดยไม่ทราบสาเหตุในภาคตะวันออก ส่งผลให้ ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาผลผลิตโดยรวมหายไปกว่าร้อยละ 20 หรือ กว่า 100,000 ตัน
แม้จะถูกระบุว่า พบเป็นครั้งแรกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมประมง ยังไม่ระบุว่า เป็นการตายด่วนชนิดเดียวกับที่สร้างความเสียหายในต่างประเทศ ทั้งจีน เวียดนาม และมาเลเซีย หรือไม่ ที่เคยส่งผลให้ลูกค้าหลักอย่าง สหรัฐอเมริกา ถึงกับเปลี่ยนแหล่งซื้อกุ้งจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ทันที แต่การไม่ทราบสาเหตุในเชิงวิชาการที่แน่ชัดและยังมีการตายด่วนต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรบางส่วนตัดสินใจลดปริมาณการเลี้ยง โดยตั้งข้อสังเกตถึงปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของการตายด่วนว่า อาจเกิดจากคุณภาพของบ่อเลี้ยง หรือ การด้อยคุณภาพของสายพันธุ์
ไม่ต่างจากเกษตรกรในบ้านเสม็ดงาม ต.หนองบัว อ.เมือง จ.จันทบุรี ที่แม้จะเลี้ยงกุ้งในระบบปิด พร้อมกับมีนักวิชาการจากบริษัทจำหน่ายอาหารกุ้งและบริษัทจำหน่ายพันธุ์ลูกกุ้งมาช่วยดูแล และนำน้ำไปตรวจเพื่อหาเชื้อ แต่ก็ไม่พบการปนเปื้อน และยังพบว่ากุ้งมีอาการหลังแดงเป็นเลือด และม้วนตัวจากก้นบ่อขึ้นมาลอยตายบริเวณผิวน้ำทันทีภายใน 5 ชั่วโมง จึงกังวลว่า อาจจะเป็นกลุ่มอาการเดียวกับที่พบในต่างประเทศ
ตามปกติแล้ว กุ้งขาว 1 ตัว จะใช้เวลาเลี้ยง 3-4 เดือน พร้อมกับมีโอกาสในการเกิดโรคได้หลายชนิด ทั้งโรคตัวแดงจุดขาว โรคขี้ขาวโรคหัวเหลือง ที่พบว่าเกิดจากแบคทีเรียที่เจาะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อกุ้ง แต่การตายด่วนในครั้งนี้ พบว่าตับของกุ้งถูกทำลายด้วยแบคทีเรียและไวรัสเกินกว่าค่ามาตรฐานที่พบในกุ้ง
นายสัตวแพทย์สุรศักดิ์ ดิลกเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกุ้ง ระบุว่า การตายด่วนในกุ้ง มีสาเหตุจากลูกกุ้งด้อยคุณภาพเป็นหลัก โดยพบว่า ปัจจุบันเกษตรกรนิยมเพาะเลี้ยงลูกกุ้งเอง เนื่องจาก เพาะเลี้ยงได้ง่าย แต่ขาดการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่า น้ำทะเลบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกในขณะนี้ไม่เหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงลูกกุ้ง เนื่องจากมีการปนเปื้อนของน้ำจืดจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 และฝนที่ตกลงมาในระยะนี้ ทำให้แร่ธาตุต่างๆ ในน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับราคากุ้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่สูงขึ้นจูงใจให้เกษตรกรเร่งรีบเลี้ยงกุ้งในแต่ละรุ่นมากเกินไป ขาดการพักบ่อเลี้ยงและการทำความสะอาดตามเกณฑ์ที่เหมาะสม จนเกิดการหมักหมมในระบบเลี้ยง เช่น ท่อน้ำ ท่อออกซิเจน จึงแนะนำให้เกษตรกรพักบ่อตากแดดให้นานขึ้น และใส่ใจการตรวจระดับแร่ธาตุให้เพียงพอต่อการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งจะช่วยให้ลดอัตราการตายลงได้