วันนี้ (11 ม.ค.2568) เวลา 18.00 น. ประชาชนจำนวนมากไปเดินเที่ยว และถ่ายรูปกับสะพานทศมราชัน ซึ่งเป็นสะพานขึง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ โดยดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วและมีกำหนดเปิดให้รถยนต์สัญจรเต็มรูปแบบในวันที่ 29 ม.ค.2568 นี้
ประชาชนหลายคนอาศัยช่วงวันหยุดแบบนี้ออกมาถ่ายรูปและทำกิจกรรมกับครอบครัว พร้อมสะท้อนว่า เป็นโอกาสยากที่จะได้มาเดินบนช่องทางจราจรแบบนี้ เพราะถ้าเปิดให้สัญจรก็จะไม่มีโอกาสได้มาเดินเล่นและถ่ายรูปแบบนี้แล้ว พร้อมสะท้อนว่า หากมีโอกาสต้องได้ใช้เส้นทางประจำและมั่นใจว่าสะพานทศมราชันจะช่วยทำให้การสัญจรคล่องตัวได้มาก
สำหรับสะพานทศมราชัน เป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ในเส้นทางของทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกตะวันตก มีการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของโครงการ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย ตั้งตระหง่านเคียงคู่สะพานพระราม 9 สามารถรองรับการสัญจร ถึง 8 ช่องจราจร มีความยาวช่วงกลางสะพาน 450 ม. ความยาวของสะพาน 780 ม.ท้องสะพานมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 41 ม.(สูงเท่าสะพานพระราม 9)
มีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 ฝั่งธนบุรี ในพื้นที่แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปเชื่อมต่อกับทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร และบรรจบกับทางแยกต่างระดับบางโคล่ ในพื้นที่ แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษเฉลิมมหานครโดยตรง รวมระยะทางทั้งโครงการจำนวน 2 กม. คาดการณ์ว่าจะสามารถรองรับปริมาณรถยนต์ได้มากถึง 150,000 คัน/ วัน
สำหรับการเปิดใช้สะพานทศมราชัน ประชาชนสามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้โดยเส้นทางขาเข้ากรุงเทพฯ ใช้ทางขึ้นบริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ ถนนสุขสวัสดิ์ เพื่อใช้งานสะพาน โดยสามารถวิ่งเข้าสู่ทางพิเศษเฉลิมมหานคร มุ่งหน้าบางนา-ดินแดง และทางพิเศษศรีรัช มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ - ถนนพระราม 9 บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ ส่วนเส้นทางขาออกกรุงเทพฯ สามารถใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ผ่านจุดเชื่อมต่อเข้ามาที่สะพานฯ บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ และลงที่ทางลง บริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ ไปเพื่อถนนพระรามที่ 2 ได้
สำหรับสะพานทศมราชัน สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมการก่อสร้างทางวิศวกรรมขั้นสูง ทำให้สะพานมั่นคงแข็งแรงสามารถรองรับแรงลมได้มากถึง 270 กม.ต่อ ชม.หรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด สะพานแห่งนี้จึงมีความมั่นคงและแข็งแรงอย่างมากในการรองรับเหตุแผ่นดินไหวหรือพายุ แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงความสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานความเป็นไทยอันทรงคุณค่า
สถาปัตยกรรมของสะพานทศมราชัน สะพานคู่ขนานสะพานทศมราชัน ถูกออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมผสมผสานความเป็นไทย พร้อมด้วยงานประติมากรรมลวดลายอันละเอียดประณีต อลังการ สื่อถึงคติความเชื่อที่แสดงเอกลักษณ์ไทยอย่างเด่นชัด การออกแบบให้โปร่งยังตั้งใจให้รองรับกับวิวแม่น้ำเจ้าพระยา มีราวกันตก บริเวณด้านนอกสุดของสะพาน ออกแบบให้โปร่ง นอกจากเพื่อไม่ให้ต้านลมที่ปะทะ ตัวสะพานแล้วยังช่วยไม่ให้บดบังทัศนียภาพอันงดงามของแม่น้ำเจ้าพระยา
ในช่วงนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ยังได้จัดกิจกรรม "งานมหกรรมสุขเต็มสิบ" เพื่อฉลองเปิดสะพานทศมราชัน โดยให้ประชาชนมาเดินเล่น ทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างวันที่ 10-19 มกราคม 2568 ช่วงเวลา 16.00-22.00 น. ภายในงานมหกรรมสุขเต็มสิบ มอบความสุขเป็นของขวัญให้คนไทย จัดเต็มด้วยร้านอาหารกว่า 30 ร้าน การแสดงดนตรีสด และกิจกรรมจากศิลปินชื่อดังในทุกวัน ท่ามกลางวิวแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยงาม
อ่านข่าว : 13 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ประดับไฟต้อนรับลอยกระทง
"เอ็ม กองเรือ" สารภาพผู้มีพระคุณจ้าง 6 หมื่น สังหารอดีต สส.กัมพูชา
ไฟป่าแคลิฟอร์เนียวิกฤต พังทลายชีวิต-ทรัพย์สิน อพยพนับแสนคน