ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พัตนาเครือข่ายรัฐร่วมเอกชน ช่วย 6 โรคเสี่ยงสูง ลดอัตราผู้ป่วยเสียชีวิต

สังคม
17 ธ.ค. 55
07:41
99
Logo Thai PBS
พัตนาเครือข่ายรัฐร่วมเอกชน ช่วย 6 โรคเสี่ยงสูง ลดอัตราผู้ป่วยเสียชีวิต

สธ.-สปสช.เร่งพัฒนาเครือข่ายบริการสุขภาพ 6 กลุ่มโรค อัตราตายสูง+มีปัญหาซับซ้อน เผยมีปัญหาผู้ป่วยเข้าถึงบริการน้อย ต้องลดอัตราตาย ให้หน่วยบริการมีแนวทางจัดการชัดเจน ทำงานง่ายขึ้น

 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นพ.วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมอบรางวัลเครือข่ายบริการดีเด่น ประจำปี 2555 ภายใต้ชื่องาน “จากทศวรรษแห่งการเรียนรู้ สู่ทศวรรษใหม่แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการตติยภูมิเฉพาะด้าน

นพ.วิชัย กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนจากโรคติดต่อเป็นโรคไม่ติดต่อที่เกิดจากภาวะเสื่อมถอยของร่างกายและพฤติกรรมสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ดังนั้นการจัดระบบบริการสุขภาพให้ผู้ป่วยเข้าถึงรวดเร็วดูแลต่อเนื่องจึงเป็นกลไกสำคัญ โดยเฉพาะปัญหาการส่งต่อส่ง/รับกลับ โดยมีกระทรวงสาธารณสุข และสปสช.เป็นหน่วยงานสนับสนุน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานวิชาการ ตลอดจนสมาคมและราชวิทยาลัยแพทย์เฉพาะทาง จึงทำให้เกิดเป็นเครือข่ายบริการที่เชื่อมโยงภาครัฐและเอกชนเป็นเอกภาพ จนปัจจุบันมีเครือข่ายสุขภาพที่สามารถให้บริการที่ซับซ้อน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบริการคุณภาพทั่วถึงเท่าเทียม ดูแลรักษาต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยที่ดีขึ้นต่อไป

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช. กล่าวว่า สำหรับ 6 กลุ่มโรค ที่มีปัญหาซับซ้อนและมีอัตราตายสูงได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง การบริการทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย การบริการจิตเวช และการดูแลแบบประคับประคอง นั้น ก่อนหน้านี้ได้พบปัญหาของคุณภาพการบริการ ปัญหาระบบการส่งต่อในระดับต่างๆ การดูแลต่อเนื่องที่หน่วยบริการใกล้บ้าน ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงบริการจำเป็น สปสช. คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการตติยภูมิเฉพาะด้าน และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข จึงได้สนับสนุนการพัฒนาระบบเครือข่ายบริการ 6 กลุ่มโรค ประสานความร่วมมือกับหน่วยบริการทั่วประเทศ สร้างเครือข่ายบริการสุขภาพ เชื่อมโยงครบวงจร มีระบบหน่วยบริการแม่ข่ายและลูกข่าย ร่วมกันพัฒนาศักยภาพมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย และพัฒนาการส่งต่อ/รับกลับผู้ป่วยในเครือข่าย

ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการพัฒนาเครือข่าย 6 กลุ่มโรคนั้น ในส่วนการพัฒนาเครือข่ายโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงเครือข่ายโรคหลอดเลือดสมอง ก่อนหน้านี้พบปัญหาว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่เสียชีวิตเพราะไม่สามารถเข้าถึงยาละลายลิ่มเลือดได้ จึงได้มีการขยายเครือข่ายบริการที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดให้มากขึ้น เริ่มดำเนินการในปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ในเครือข่ายโรคหัวใจและหลอดเลือดมีหน่วยบริการเข้าร่วม 933 แห่ง และเครือข่ายโรคหลอดเลือดสมอง มีหน่วยบริการเข้าร่วม 861 แห่ง ผลการดำเนินงานพบว่า อัตราการได้รับยาละลายลิ่มเลือดทันเวลาเพิ่มมากขึ้นและอัตราการเสียชีวิตลดลง

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาเครือข่ายโรคมะเร็ง เพื่อเชื่อมโยงระหว่างหน่วยบริการเพื่อรักษาใกล้บ้านผู้ป่วยมากที่สุด ตั้งแต่การคัดกรอง วินิจฉัยเบื้องต้น ส่งต่อ และการดูแลพักฟื้นเยียวยาระยะสุดท้าย ปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้ารับบริการโรคมะเร็งในทุกจังหวัด โดยเฉพาะเคมีบำบัด มีอัตราการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร้อยละ 90 สำหรับรังสีรักษาสามารถส่งต่อและรอคอยการรักษาไม่เกิน 2 เดือน ส่วนแนวทางการการพัฒนาเครือข่ายทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยนั้น การรักษาต้องใช้อุปกรณ์และบุคลากรเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การพัฒนาจึงมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพ สนับสนุนอุปกรณ์ และเครือข่ายส่งต่อรับกลับ ปัจจุบันมีหน่วยบริการเครือข่าย 855 แห่ง เป็นแม่ข่าย 27 แห่ง และลูกข่าย 828 แห่ง

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวว่า การพัฒนาเครือข่ายจิตเวช ซึ่งไทยมีความชุกของกลุ่มโรคจิตเวชประมาณร้อยละ 0.8-1.2 ของประชากร แต่พบว่าอัตราการเข้าถึงบริการรักษายังต่ำ ในปี 2555 เข้าถึงการรักษาเพียงร้อยละ 0.57 พบว่าปัญหาเกิดจากหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการดูแลมีจำกัด ดังนั้นจึงต้องพัฒนาเครือข่ายบริการจิตเวช ปัจจุบันมีหน่วยบริการเข้าร่วมเครือข่ายบริการจิตเวชเพิ่มมากขึ้นถึง 593 แห่ง การพัฒนาเครือข่ายการดูแลแบบประคับประคอง เนื่องจากไทยมีอัตราเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงขึ้นทุกปี รวมถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เอดส์ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตวายระยะสุดท้าย ซึ่งต้องการดูแลแบบประคับประคอง โดยการบรรเทาอาการปวด สปสช.จึงมีนโยบายสนับสนุนนำร่องเขตละ 1 แห่ง เพื่อพัฒนาเครือข่ายการดูแลแบบประคับประคอง ปี 2555 มี 61 เครือข่าย ประกอบด้วย 584 หน่วยบริการ ครอบคลุมทั่วประเทศ

“การมีระบบเครือข่ายบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานครบวงจร ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิจนถึงทุติยภูมิ ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการอย่างทั่วถึง ทันเวลา และต่อเนื่อง ลดอัตราการเสียชีวิต ความพิการ และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต” รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง