นิทรรศการภาพถ่าย
ของเล่นแสนรักอย่างตุ๊กตาบาร์บี้ ถูกทำร้ายอย่างไม่ใยดี ความทรงจำวัยเด็กของคนใกล้ตัว เป็นแรงบันดาลใจให้ "คัทลียา จารุทวี" ถ่ายภาพย้อนแสงโทนขาวดำที่ใช้เงาตุ๊กตาเป็นตัวแทนความเดียวดายอ้างว้าง สื่อถึงการถูกทำร้ายจากคนในครอบครัว เช่นเดียวกับหลายภาพถ่ายในนิทรรศการ ความรักที่แตกต่าง ที่ช่างภาพวัย 27 ปี หวังใช้งานศิลปะแนวถนัด กระตุ้นให้สังคมเห็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ให้ผู้กระทำตื่นรู้ถึงความผิด และผู้ถูกกระทำไม่ยอมจำนนกับความรักที่เจือปนด้วยความรุนแรง
คัทลียา เล่าว่า บางทีคนที่ไม่เข้าไปช่วยเพราะไม่รู้ เพราะคนที่โดนกระทำก็ไม่กล้าที่จะพูดออกมา แล้วบางทีกฏหมายสำหรับสิทธิของไม่ว่าสตรีหรือเด็กมันไม่เข้มคนแล้วสังคมบางทีคนมีอิทธิพลเยอะ
แม้บางภาพจะไม่มีตัวแบบ แต่สิ่งของเหล่านี้ช่างภาพต้องการกล่าวถึงการถูกกระทำด้วยสิ่งของใกล้ตัวที่ฝากรอยแผลเป็นภายนอกเอาไว้ แต่สิ่งที่แสดงออกผ่านภาพถ่ายไม่ได้นั้นก็คือรอยแผลภายในใจของผู้ที่ถูกกระทำ และแม้ไม่ใช่ประสบการณ์ตรง แต่การได้ฟังเรื่องราวจากเพื่อนสนิทและข่าวสารรอบตัว ทำให้แคทลียาเห็นว่า ความรุนแรงภายในครอบครัวนั้นมีไม่น้อยในสังคมเอเชีย สร้างความเจ็บปวดทางกายและใจ ส่วนใหญ่ต้องปกปิด รวมถึงเข้าใจผิดว่าความรุนแรงคืออีกวีธีในการแสดงความรัก ซึ่งภาพส่วนใหญ่แคทลียาลงมือถ่ายภาพด้วยตัวเอง อาศัยการตั้งกล้องเพราะใช้ตัวเองเป็นแบบ เพื่อแสดงความรู้สึกของผู้ถูกกระทำได้ชัดเจนกว่า
โดยคัทลียา เล่าต่อว่า ตนเองได้สะท้อนถึงความทรงจำของผู้หญิงคนหนึ่ง จึงอยากจะถ่ายให้เหมือนเป็นความทรงจำ แล้วพยายามสื่อถึงความรู้สึกที่เขาเล่าให้เราฟังมา ว่าเขารู้สึกยังไง เวลาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเค้าในชีวิตตอนเด็ก
ขณะที่กำธร เภาวัฒนาสุข ช่างภาพอิสระ เล่าว่า ทุกภาพเต็มไปด้วยความอึดอัดที่อยากระบายออก ความเจ็บปวด เสียงที่มันต้องการกรีดร้อง สัญลักษณ์บางอย่าง อย่างเช่นตุ๊กตาแอปเปิ้ลเหล่านี้เนี่ย ศิลปินต้องการพูดถึงสิ่งทีอยู่ภายในใจ บางรูปมันนิ่ง แต่ว่ามันเก็บกด บางรูปมันเคลื่อนไหวแล้วมันมีเสียง เสียงที่ตะโกนดังดังออกมา
ความรักที่แตกต่าง เป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งที่ 2 ของ คัทลียา จารุทวี ที่ยังคงเน้นสะท้อนมุมมองทางสังคมจัดแสดงที่ RMA INSTITUTE ซอยสุขุมวิท 22 ถึงวันที่ 10 มกราคมนี้