นักวิชาการ แม้จะต่างกันในสาขาความเชี่ยวชาญ แต่เมื่อวิเคราะห์บริบททางการเมืองและสังคมไทยในช่วงปีที่ผ่านมา และคาดการณ์อีก 1 ปีข้างหน้านั้น สุ่มเสี่ยงต่อเหตุเผชิญหน้าและเหตุความรุนแรงที่จะตามมา เพราะยังมีหลายปัจจัยที่จะนำสถานการณ์ไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่
2 ปีกับการรวบรวมค้นคว้าและศึกษาความจริง กรณีเหตุวิกฤตการเมือง ปี 2553 คอป.สรุปออกมาเป็นรายงานเกือบ 300 หน้า นำส่งนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเปิดแถลงต่อสาธารณะชน นอกจากไม่มีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว ผลที่ย้อนกลับยังกลายเป็นหมากทางการเมืองอีกด้วย
เหตุผลที่ว่า สังคมไทยยังคงมีปัจจัยของการนำสถานการณ์ไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ เพราะสิ้นเสียงการอ่านรายงานสรุปฉบับสมบูรณ์ของ คอป.และสิ้นสุดหน้าที่ของ คอป. ฝ่ายการเมือง ฝั่งตรงข้ามกันก็เปิดฉากโจมตีกัน พร้อม ๆ กับการหยิบฉวยข้อมูลบางส่วนบางตอนของ คอป.มากล่าวอ้างเพื่อประโยชน์ของบุคคลและกลุ่มของตัวเอง
พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เปิดเวทีปราศรัย"ผ่าความจริง-ใครบงการชายชุดดำรับจ้างฆ่าประเทศไทย" และจัดกิจกรรมแรลลี่ชี้จุดชายชุดดำ พร้อมกล่าวย้ำข้อมูลของ คอป. ที่ชี้ว่ามีคนชุดดำจริง และมีหลักฐานพบว่า ได้รับการสนับสนุนจากการ์ด นปช.และบางคนใกล้ชิดกับพลตรีขัตติยะ สวัสดิผลหรือเสธแดง
ขณะที่นปช.และแนวร่วม ต่างออกมาคัดค้าน คอป. และชี้ว่า ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เป็นการใส่ร้ายป้ายสีกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และกล่าวหาพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นต้นเหตุของความ ไม่ไว้วางใจในสังคม โดยเฉพาะข้อครหาว่า เผด็จการเสียงข้างมาก และเป็นเหตุวุ่นวาย จนกลายเป็นความรุนแรง
รวมถึงบทแนบท้ายของคอป.ที่เสนอแนะไว้ หรือบันทึกส่วนตัวของศาสตราจารย์คณิต ณ นคร ที่นอกจากจะบอกเล่าความรู้สึกในการทำงาน ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง กรณีเสนอให้พันตำรวจโททักษิณเสียสละ ยุติบทบาททางการเมือง ไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ ก็เป็นรัฐบุรุษสร้างบ้านเมืองให้สงบได้
ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็อ้างอิงข้อเสนอของ คอป. เห็นชอบและอนุมัติงบประมาณ เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมือง พร้อมเดินหน้าดำเนินคดี 99 ศพจากเหตุความสูญเสียที่เกิดขึ้น รวมถึงการลงมติให้ ปคอป.เปิดเวทีเสวนาสร้างความปรองดอง
ก้าวย่างแห่งความปรองดองในปี 2556 ไม่เพียงนักสิทธิมนุษยชน,นักวิชาการ,อดีตประธาน คอป.เท่านั้นที่แสดงความเป็นห่วงต่อปัจจัยที่หลากหลาย ซึ่งอาจนำสถานการณ์บ้านเมืองไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ได้ โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญและการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดอง
นั่นเพราะฝ่ายการเมืองยังไม่สามารถหาวิธีการยอมรับความแตกต่างด้วยสันติได้ รองศาสตราจารย์ยุทธพร อิสรชัย วิเคราะห์ให้ฟังถึงปัญหาแวดล้อม ที่กำลังก่อตัวขึ้น และพร้อมผันแปรกลายเป็นเหตุเผชิญหน้า ตามมาด้วยความรุนแรงได้ทุกเมื่อ
ระหว่างที่รอการลงมติวาระที่ 3 ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ค้างอยู่ในรัฐสภานั้น ครม.ลงมติเห็นชอบการทำประชามติและกำหนดกรอบดำเนินการแล้ว
โดยรัฐบาลยืนยันเป็นหนึ่งในหลักของการปฏิรูปการเมือง และมีมวลชนสนับสนุนให้แก้ทั้งฉบับ ด้วยเหตุที่เชื่อว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2550 มีที่มาจากเผด็จการรัฐประหาร ขณะที่ฝ่ายค้านประกาศรณรงค์ตรงกันข้าม โดยมีมวลชนสนับสนุน เพราะชี้ว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ต่างจากการฉีกรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าการแนวทางปฏิรูปการเมือง
ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ค้างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ฝ่ายหนึ่งเชื่อมั่นว่าการนิรโทษกรรม เป็นหนทางของการลดความขัดแย้ง แต่อีกฝ่าย บอกว่า การยึดกลไกในกระบวนการยุติธรรม คือจุดเริ่มต้นของการสร้างปรองดอง ไม่ใช่การยกเว้นความผิด
นับจากนี้ไปทุกฝ่ายทุกคน คงไม่มีใครอยากปล่อยให้"รายงานสรุปฉบับสมบูรณ์ของ คอป. เพื่อความปรองดอง"อยู่ในกล่องดำ โดยรอวันเปิดพิสูจน์ในผลปฏิบัติ เมื่อเกิดเหตุขัดแย้งเผชิญหน้าและนำมาซึ่งความรุนแรงรอบใหม่ นั่นเป็นเพราะว่า ทุกคำแนะนำสามารถปฏิบัติได้จริง นับจากวันนี้ไป