ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หนุนรวมกลุ่มปลูกบัวกระถาง ช่องทางรายได้"ผู้สูงวัย"

26 ธ.ค. 55
06:06
415
Logo Thai PBS
หนุนรวมกลุ่มปลูกบัวกระถาง ช่องทางรายได้"ผู้สูงวัย"

บัวในกระถางถูกลำเลียงส่งออกไปในพื้นที่ต่างๆ แม้จะมีรายได้กลับมาไม่มากมายแต่ก็เป็นความภูมิใจของ ชมรมผู้สูงอายุ ต.ระแหง “อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมถึง 8พัน ครัวเรือนและมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ถึง 185 ครัวเรือน ในจำนวนนั้นมีผู้สูงอายุกว่า 200 คน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

 ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่และความต้องการเพิ่มศักยภาพการทำงานของผู้สูงอายุ  ทำให้นางวันเพ็ญ เจริญนนทสิทธิ์ นายกเทศมนตรี เทศบาล ต.ระแหง และ นางสุสานันท์ คมกฤช นักพัฒนาชุมชน  ได้เล็งเห็นศักยภาพกลุ่มผู้สูงอายุ ทางเทศบาล มีนโยบายส่งเสริมผู้สูงอายุและผลักดันให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ พร้อมให้ความสนับสนุนด้านองค์ความรู้ จัดแกนนำไปศึกษาดูงานในพื้นที่ต่างๆ และรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน โดยใช้พื้นที่บ้านของประธานชุมรมผู้สูงอายุ เป็นที่รวมกลุ่มส่งเสริมอาชีพปลูกบัว และประชุมคณะทำงานวงเดือนลำดวน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ 

 
นอกจากนี้ทางชมรมยังได้อนุรักษ์ฟื้นฟูตลาดน้ำร้อยปีระแหง เพื่อจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง ขนมไทยโบราณ และผลิตผลทางการเกษตร จนได้รับรางวัลอนุรักษ์ชุมชนดั่งเดิม จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
            
การปลูกบัวในกระถางเพื่อเป็นอาชีพเสริมนั้น เกิดจากการที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้เข้ามาสนับสนุนพันธุ์บัว และสอนการปลูกบัวให้กับชมรมผู้สูงอายุ ทำให้ศูนย์การเรียนรู้มีความก้าวหน้าในทักษะอาชีพปลูกบัว ต่อมาเมื่อสมาชิกในกลุ่มมีความชำนาญเพิ่มมากขึ้น ก็เริ่มมีการปลูกบัวขายเพื่อหารายได้เข้าชมรมผู้สูงอายุ ใช้รูปแบบการประกอบการคล้ายวิสาหกิจชุมชน สมาชิกร่วมลงทุนคนละ 100 บาท เพื่อเป็นทุนสำหรับซื้อดินเหนียว ปุ้ย กระถาง ต้นพันธุ์ และค่าน้ำ เน้นการปลูกบัวกระถางพันธุ์บัวผันและบัวเผื่อน ซึ่งดอกมีกลิ่นหอมและหลายสี ติดเมล็ดและผสมพันธุ์ข้ามสีต่างๆ ได้ง่าย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ราคาถูก ดูแลง่าย 
 
ขณะเดียวกันก็มีการปลูกพืชผักสวนครัว ทำน้ำหมักชีวภาพ และส่งเสริมอาชีพเพาะเห็ด จนชมรมผู้สูงอายุกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน ส่วนรายได้จากการขายบัวขณะนี้ยังไม่ได้กระจายให้สมาชิก แต่จะนำมารวบรวมไว้เพื่อให้กลุ่มเติบโต”
            
บทเรียนของอาชีพส่งเสริมบัวกระถาง ของกลุ่มผู้สูงอายุ ต.ระแหง พบว่ามีการอาศัยปัจจัยพื้นฐานการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ 1.กำลังคน 2.การระดมเงินทุนจากสมาชิก 3.การพัฒนาสายพันธุ์บัว เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และ 4.การบริหารจัดการ ทั้งคน เงินทุน วัตถุดิบ ในแต่ละขั้นตอนอย่างลงตัว ซึ่งจากการพิจารณา จะเห็นว่าทางกลุ่มสามารถพึ่งพาตนเองได้ ประการสำคัญคือการปลูกพืชสวนครัวช่วยให้สมาชิกประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยการตลาดซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาในระยะยาว ดังนั้นจึงเป็นต้องหามาตรการร่วมกันเพื่อรองรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
            
ส่วนข้อเสนอแนะต่อบทบาทของศูนย์เรียนรู้นั้น เห็นว่าหน่วยงานส่วนท้องถิ่นควรเป็นภาคีสนับสนุนในด้านการขายและหาช่องทางการตลาด ควบคู่ไปกับสนับสนุนงบประมาณพัฒนาแกนนำผู้สูงอายุ ให้สามารถส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงแก่สมาชิกกลุ่ม ขณะเดียวกันก็ควรขยายทุนทางสังคมระหว่างผู้สูงอายุกับลูกค้า ให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการเรียนรู้ระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาทักษะการจัดการอาชีพเสริมสำหรับผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม”
            
ขณะที่ ร.ต.ต.แทน ดีจิตต์ ประธานชมรมผู้สูงอายุ กล่าวว่า การปลูกบัวในกระถางนั้น มีวิธีการไม่ยุ่งยากดูแลง่าย ไม่ซับซ้อนเหมือนพืชชนิดอื่นๆ เมื่อมีเวลาว่างก็ออกมาดูแลใส่น้ำไม่ให้ขุ่นหรือสกปรก เป็นอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เพราะมีความปลอดภัยในการทำงาน ส่วนการทำงานนั้น สมาชิกในกลุ่มจะแบ่งกันดูแล ผลัดเปลี่ยนกันมาเปลี่ยนน้ำ เปลี่ยนดิน ใส่ปุ้ย ตามระยะเวลาของบัว และทำตารางจดบันทึกไว้ทุกครั้ง แต่ขณะนี้บัวที่ปลูกยังมีไม่มาก เนื่องจากบัวจำนวนมากได้เสียหายและจมน้ำไปเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ปีที่ผ่านมา
          
“ราคาขาย กระถางละ 25-50 บาท มีการลงทุนน้อย ใช้เวลาดูแล 2-3 เดือนต่อต้น ซึ่งจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อในราคาส่ง และนำไปขายยังสถานที่ต่างๆ เช่น ตลาดนัดจตุจักร ราคากระถางละ 70-100 บาท แต่เนื่องจากรายได้จากการขายยังไม่มาก จึงนำเงินเข้ากลุ่มสำหรับเป็นทุนซื้อวัตถุดิบ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้สนใจและเดินมาศึกษาดูงาน การปลูกบัวกระถางอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ตามนักพัฒนาชุมชนของสำนักงานเทศบาลตำบลระแหง ค่อยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำการพัฒนาสินค้าและการขายอยู่เสมอ ซึ่งในอนาคตหากทางกลุ่มฟื้นตัวได้จากน้ำท่วม คาดว่าจะสามารถขายบัวได้มากขึ้น”
 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง