กรมโรงงานอุตสาหกรรม-กระเบื้องโอฬาร ชี้แจ้งข้อเท็จจริง
กรมโรงงานอุตสาหกรรมยืนยันว่า การว่าจ้างคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศึกษากรอบการยกเลิกผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหิน ไม่ได้เป็นการยื้อเวลา แต่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 เมษายน 2554 ที่ให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำแผนยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายแร่ใยหิน และผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบทุกชนิด แต่ไม่ได้กำหนดกรอบเวลา ซึ่งต่างจาก มติการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ที่เห็นสมควรให้ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินภายในปี 2555
กรมโรงงานให้เหตุผลของการใช้เวลายกเลิกตามผลการศึกษา 2-5 ปี เนื่องจากมีสินค้าบางชนิดเท่านั้นที่สามารถยกเลิกใช้แร่ใยหินได้ทันที เพราะมีวัตถุดิบอื่นทดแทนได้ แต่บางชนิดวัตถุดิบทดแทนมีราคาแพง และเมื่อใช้แทนแล้ว สินค้ามีคุณภาพด้อยลง ซึ่งจะกระทบกับผู้บริโภค รวมทั้งไม่มีข้อมูลทางสาธารณสุขว่าสารใช้ทดแทนไม่กระทบกับสุขภาพ
ทั้งนี้ กรมโรงงาน ถึงรายงานที่บางประเทศยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน แต่กลับเริ่มนำเข้าในภายหลังเพราะมีความจำเป็นต้องใช้ในบางผลิตภัณฑ์ และไม่มีผลกระทบกับผู้บริโภคที่ชัดเจน เช่น สิงคโปร์ แต่ยอมรับผลกระทบจากแร่ใยหินอาจเกิดโดยตรงกับแรงงานในโรงงานผลิตสินค้าที่ใช้แร่ใยหิน และสถานที่ก่อสร้าง มีความเสี่ยงที่จะได้รับแร่ใยหินจากกระบวนการทำงาน ทางกรมต้องเข้าไปควบคุมกระบวนการอย่างเข้มงวด
กรรมการผู้จัดการ บริษัท กระเบื้องโอฬาร จำกัด ชี้แจงว่า ขณะนี้มีเพียง 50 กว่าประเทศ จากสมาชิกองค์การอนามัยโลก 194 ประเทศ ที่ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไคโซไทล์ และที่จำเป็นต้องใช้แร่ใยหิน เพราะมีคุณสมบัติเสริมความแข็งแรงให้ผลิตภัณฑ์ ยืดอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ขณะที่สารทดแทน กลับมีราคาสูงกว่าถึงร้อยละ 30 อายุการน้อยกว่า 3 เท่า ประชาชนจึงควรได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมากกว่าและยังไม่มีคำยืนยันว่าสารทดแทนมีความปลอดภัยมากกว่าแร่ใยหินอย่างไร
ส่วนการพบผู้เสียชีวิต และผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดในไทย ก็ไม่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าเกิดจากแร่ใยหิน อีกทั้งข้อมูลการตรวจสอบโรงงานที่ดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข ก็ระบุชัดเจนว่า พบการปนเปื้อน การฟุ้งกระจายของแร่ใยหินต่ำกว่าค่ามาตรฐาน จึงไม่ต้องการให้ประชาชนตื่นตระหนกกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไคโซไทล์ เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและมีอันตรายน้อยมาก
กรรมการผู้จัดการ บริษัท กระเบื้องโอฬาร บอกด้วยว่า การระงับนำเข้าแร่ใยหิน จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะการแข่งขันด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ของภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาคเดียวกัน หากเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ทั้งนี้ ปริมาณนำเข้าแร่ใยหินลดลงตั้งแต่ปี 2550 ที่บรรจุให้แร่ใยหินทุกชนิดยกเว้น โครโซไทล์ เป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ที่ห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด ส่วนปีนี้ลดลงจากปีก่อนกว่า 2 หมื่นตัน ปัจจุบันการนำเข้าแร่ใยหินร้อยละ 90 เป็นของผู้ผลิตกระเบื้อง 2 ราย ที่เหลือนำเข้ามาจำหน่ายในอุตสาหกรรมประเภทอื่น