โดยการแก้ปัญหาด้านแรงงานของรัฐบาลในรอบปี 2555 ถูกสะท้อนโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ที่ยกให้การส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานมีความก้าวหน้าอย่างมาก ที่โดดเด่นสุดหนีไม่พ้นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งรองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มองว่า เป็นปรากฎการณ์ และเป็นความหวังของวงการแรงงานไทย
สำหรับคนรับใช้ตามบ้านกว่า 440,000 คน ได้รับประโยชน์จากประกาศกระทรวงแรงงานฉบับที่ 14 ปี 2555 ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานปี 2541 ที่บังคับใช้ในวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้คนรับใช้ตามบ้าน ได้สิทธิวันหยุด วันลา และการได้รับค่าตอบแทนวันหยุด
แต่ที่น่ากังวล คือ รัฐบาลจะมีแนวทางอย่างไรให้นโยบายต่าง ๆ นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่แม้รัฐบาลจะยืนยันว่า 1 มกราคมปีหน้า จะได้ปรับพร้อมกันทั่วประเทศ แต่ที่ผ่านมาการนำร่องปรับค่าจ้างขั้นต่ำใน 7 จังหวัดกลับยังพบปัญหา
วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เรียกร้องให้รัฐบาล หามาตรการรองรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทที่เป็นรูปธรรม มากกว่าการเยียวยาผู้ประกอบการโดยให้นายจ้างลดส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพราะจะส่งผลต่อความมั่นคงของกองทุนและผู้ใช้แรงงานในระยะยาว
ส่วนแรงงานนอกระบบพบว่า นโยบายการขยายสิทธิประกันสังคม มาตรา 40 ทำได้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบมากขึ้น ซึ่งประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ มองว่า ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับแรงงานได้ เช่น เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินบำเหน็จ แต่อยากให้ขยายช่องทางการส่งเงินสมทบ สำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ปี 2553 ถึงขณะนี้ยังไม่เห็นผลในทางปฏิบัติ กระทรวงแรงงานควรออกกฎกระทรวง หรือ กฎหมายลูกรองรับ โดยเร็ว
ขณะที่ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ปี 2554 ที่จะช่วยเพิ่มสวัสดิการด้านบำนาญชราภาพ ซึ่งเข้าถึงแรงงานนอกระบบจำนวน 24 ล้านคน รัฐบาลก็ไม่สานต่อโครงการอย่างจริงจัง
นอกจากนี้เครือข่ายแรงงาน ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสิทธิเสรีภาพของแรงงานในการรวมตัวกันเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างความมั่นคงให้แรงงาน รวมถึงเร่งลดความเหลื่อมล้ำในส่วนแรงงานข้ามชาติ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558