มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้
นายอิฐบูลย์ อ้นวงษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงนโยบายการปรับขึ้นราคาก๊าชแอลพีจีในขณะนี้ว่า ในที่ประชุมวุฒิสภาครั้งที่ผ่านมา นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ระบุว่า ภาคปิโตรเคมีจ่ายเงินค่าก๊าซแอลพีจีที่ประมาณ 16.20 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ภาคครัวเรือนจะอยู่ที่ราคาประมาณ 18 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าในปัจจุบันภาคปิโตรเคมีการใช้ก๊าซแอลพีจีได้ถูกกว่าภาคครัวเรือน
ทั้งนี้ เมื่อสมัยรัฐบาล ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติจากคณะรัฐมนตรี ว่าให้มีการเรียกเก็บภาษีก๊าซแอลพีจีจากภาคปิโตรเคมี 1 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบัน จำนวนภาษีดังกล่าวทางรัฐบาล ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่าภาคปิโตรเคมีสามารถเรียกคืนภาษีที่ชำระไปแล้วได้ ซึ่งเสมือนว่าภาคปิโตรเคมีใช้ก๊าซแอลพีจีโดยปราศจากภาษี
ขณะที่รัฐบาลของ นายสมชาย วงศ์วัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายได้รวมภาคปิโตรเคมี เข้ามาร่วมใช้ก๊าซแอลพีจีด้วย เนื่องจากให้เหตุผลว่าภาคปิโตรเคมีสามารถสร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาล และในการใช้ก๊าซแอลพีจีดังกล่าว ทางรัฐบาลได้แบ่งเป็นส่วนต่างๆ โดยการมีนโยบายให้ปิโตรเคมีใช้ก่อน แล้วที่เหลือจากที่ปิโตรเคมีใช้ จะเป็นภาคครัวเรือน และภาคต่างๆ ใช้ ถ้าการใช้เกินกว่าที่ผลิตได้ จำต้องมีการนำเข้า ซึ่งจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามาชดเชยส่วนต่างที่นำเข้ามาในราคาแพง
อย่างไรก็ตาม ตลาดของก๊าซแอลพีจีในปัจจุบันว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ตลาด คือ 1. ตลาดภาคครัวเรือน ร้อยละ 40 หรือประมาณ 2.7 ล้านตันต่อปี 2. ตลาดภาคขนส่ง ร้อยละ 15 หรือประมาณ 900,000 ตันต่อปี 3. ตลาดภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 5 หรือประมาณ 700,000 ตันต่อปี 4. ตลาดภาคปิโตรเคมี ร้อยละ 35 หรือประมาณ 2.4 ล้านตันต่อปี
ประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซแอลพีจีได้ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ซึ่งได้จากโรงแยกก๊าซประมาณ 3.5 ล้านตันต่อปี และโรงกลั่นประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี ขณะที่โรงแยกก๊าซส่วนใหญ่เป็นของ บริษัท ปตท. ซึ่งจุดเริ่มต้นของการใช้ก๊าซแอลพีจีคือ รัฐบาลต้องการให้ภาคครัวเรือนใช้แก๊ส แทนการใช้ถ่านไม้