ปภ.เริ่มแล้ว ส่ง SMS แจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 24 ชม.

ภัยพิบัติ
20 ก.ย. 67
20:38
204
Logo Thai PBS
ปภ.เริ่มแล้ว ส่ง SMS แจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 24 ชม.

บทเรียนอุทกภัย อ.แม่สาย จ.เชียงราย นำไปสู่คำถามว่าระบบ SMS แจ้งเตือนภัย ไทยจะใช้ได้เมื่อไร ล่าสุดหน่วยงานด้านการเตือนภัยอย่าง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เริ่มใช้แล้ว ช่วงเฝ้าระวังฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุ "ซูลิก" แต่ยังมีข้อจำกัดหากส่งไปพร้อมกันหลายพื้นที่อาจทำได้ช้า 

นายไพรินทร์ ลิ้มเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า การแจ้งเตือนภัยเป็นการส่งผ่านข้อความ SMS เป็นข้อความไม่เกิน 70 ตัวอักษร เป็นภาษาไทย หากเป็นภาษาอังกฤษเพิ่มเป็น 2 เท่า ระบบนี้จะแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 12-24 ชั่วโมง และการแจ้งเตือนภัยแบบฉุกเฉิน 6-12 ชั่วโมง หากเข้าหลักเกณฑ์แจ้งเตือนภัย 5 ระดับ

แล้ว SMS จะแจ้งเตือนตอนไหนนั้น ก็ต่อเมื่อระดับ "ภัยพบัติ" อยู่ในระดับสีเหลือง และตามขั้นตอนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะขออนุมัติการส่ง SMS จากอธิบดี ปภ.ใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที จากนั้นจะส่งข้อความไปยัง กสทช.เพื่อให้ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ (NT -AIS -TRUE) ส่งไปยังผู้ประสบภัย โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติ จะทำหน้าที่ชี้เป้าพิกัดว่าต้องเตือน พื้นที่ไหนในจังหวัดนั้น ๆ แต่ระบบนี้ยังมีข้อจำกัดหากส่งไปในหลายพื้นที่ต้องใช้เวลา

กสทช.อนุมัติงบฯ แจ้งเตือนภัย 1 พันล้าน ได้ใช้ปี 68

ส่วนความบคืบหน้า Cell Broadcast service ระบบแจ้งเตือนภัยไปยังโทรศัพท์ ระบบนี้ไม่จำเป็นต้องติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มเติม กสทช.เปิดเผยว่า ระบบมีความพร้อมแล้ว ผ่านการอุมัติงบมากกว่า 1,000 ล้านบาท จะเริ่มทดสอบระบบ ที่ จ.ภูเก็ต และเชียงใหม่ เดือน ต.ค.นี้ ระบบนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ รวมถึงภัยคุกคามต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที

เช่นหากเกิดกรณีก่อการร้ายในห้างสรรพสินค้า ใครอยู่ในพื้นที่อันตรายก็จะได้รับข้อความสั้น ๆ จำนวน 200,000 - 300,000 เบอร์ และคนที่นอกพื้นที่ก็จะได้รับด้วย แม้จะมีสัญญาณโทรศัพท์หรือไม่มีก็ตาม

แต่ก็มีข้อกังวลจาก กสทช.ว่าแล้วใครจะเป็น "เจ้าภาพ" ส่งชุดข้อความ เพราะการแจ้งเตือนภัยไม่ใช่แค่เรื่องภัยพิบัติ และอาจเกินอำนาจหน้าที่ของศูนย์เตือนภัยพิบัติ เนื่องจากยังมีภัยก่อการร้ายภัยคุกคามต่าง ๆ เพื่อป้องกันให้ประชาชนไม่ตระหนกจนเกินไป

ขณะเดียวกัน กสทช. ยังได้เตรียมทดสอบระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน Emergency Warning System (EWS) เพิ่มช่องทางการแจ้งเตือนภัย หรือ "ช่องภัยพิบัติ" ให้กับประชาชนผ่านทางโทรทัศน์อีกด้วย คาดว่าจะเกิดขึ้นเดือน มิ.ย.2568 นี้

ทุกครั้งที่เกิดเหตุภัยพิบัติ หรือ ภัยก่อการ้าย เรามักได้เห็นการแจ้งเตือน ผ่านทางสังคมออนไลน์ แต่หลายครั้งก็เป็น Fake news ดังนั้นหากไทยมีระบบกลางแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินเหมือนกับในหลายประเทศจะช่วยลดความสูญเสียได้

 

อ่านข่าว : 10 วัน "ถ้ำผาจม" แม่สายยังอ่วมจมโคลน

เทียบเกณฑ์เยียวยาน้ำท่วม ปี 54 - 67

สำรวจ 4.2 ล้านไร่ทำกินในป่าอนุรักษ์ตีกรอบจบปี 69

ข่าวที่เกี่ยวข้อง