จับตาสถานการณ์ประมง
ทั้ง 3 ประเด็นที่ว่านี้ มีความเคลื่อนไหวเข้มข้นมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการรื้อถอนโพงพาง ที่บานปลายเป็นความขัดแย้ง ระหว่างประมงพื้นบ้านที่ทำโพงพาง กับเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงความเห็นต่างในการปรับปรุงกฎหมายฉบับใหม่ กระบวนการมีส่วนร่วม เป็นสิ่งที่มักจะถูกเรียกร้องให้เพิ่มเติมในหลายข้อกฎหมาย
เช่นเดียวกับกฎหมายประมง ที่เครือข่ายประมงพื้นบ้านได้ข้อสรุปว่า นี่เป็นช่องโหว่ของการจัดการปัญหาประมงบ้านเรา และตลอดปีที่ผ่านมา ก็มีความพยายามเรียกร้องให้หน่วยงานหลักอย่างกรมประมง เพิ่มน้ำหนักให้เรื่องนี้ให้มากขึ้น ผ่านร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่ ที่กำลังปรับแก้
ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ก็คงต้องมาติดตามกันต่อว่า การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม จะถูกให้ความสำคัญมากขึ้นจริงและต่อเนื่อง จนเสริมกลไกการจัดการปัญหาประมงบ้านเราให้มีประสิทธิภาพได้มากน้อยแค่ไหนเพราะร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่ ไม่ได้มีแค่ฉบับของกรมประมงและประชาชนเท่านั้น ยังมีฉบับของบรรดาพรรคการเมืองด้วย
11 หมวด 87 มาตรา ของร่างพระราชบัญญัติการประมงฉบับใหม่ ของกรมประมง ยังมีอีกหลายประเด็นที่จะถูกเพิ่มเติมและปรับปรุงค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การควบคุมอนามัยสัตว์น้ำ และการกำหนดพื้นที่ประมงนอกน่านน้ำ เพื่อไม่ให้ผิดข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่ขาดไม่ได้ และจะถูกกำหนดให้ชัดเจนมากขึ้น ก็คือการกำหนดเขตพื้นที่ทำประมงภายในบ้านเราเอง
ที่ผ่านมา การลักลอบเข้าไปทำประมงด้วยเครื่องมือขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่ชายฝั่ง เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งต่อจำนวนสัตว์น้ำและวิถีประมงท้องถิ่น จนกลายเป็นความขัดแย้งมายาวนาน หลายภาคส่วน โดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องกับการทำประมง คงอยากเห็นหน้าตาของพระราชบัญญัติการประมงฉบับใหม่เร็วๆ โดยเวลานี้ ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาโดยคณะกรรมมาธิการ เพื่อส่งต่อไปยังสภาผู้แทนราษฎร
ส่วนความคืบหน้าแนวคิดของกรมประมง ที่สร้างความกังวลใจให้กับเครือข่ายประมงพื้นบ้านมาโดยตลอด อย่างการนิรโทษกรรมเรืออวนลาก เวลานี้ แนวคิดดังกล่าวได้ถูกพับเก็บไปเรียบร้อยแล้ว ต่างจากเรื่องของการรื้อถอนโพงพาง ที่แม้ประมงพื้นบ้านบางกลุ่มจะยืนยันหนักแน่นถึงวิถีโพงพางที่ไม่ทำลายทรัพยากร แต่อธิบดีกรมประมงก็ยืนยันว่า ไม่ล้มเลิกมาตรการนี้เด็ดขาด เพราะข้อมูลทางวิชาการ ก็ชี้ชัดแล้วว่า โพงพางเป็นเครื่องมือที่ส่งผลต่อการลดลงของจำนวนของสัตว์น้ำขนาดเล็ก
วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมงยืนยันว่า ที่สุดแล้ว คุณภาพชีวิตของชาวประมงจะต้องสอดคล้องกับมาตรการทางการค้า การดำเนินการเพื่อหาข้อสรุปของมาตรการต่างๆ จึงต้องเป็นไปอย่างรอบครอบ และมั่นใจว่า หน้าตาของกฎหมายประมงฉบับใหม่ จะช่วยเติมเต็มและแก้ปัญหาเหล่านี้ในอนาคต