โครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง ไม่กระตุ้นราคาในประเทศ
เมื่อสิ้นสุดปี 2555 ที่ผ่านมา ราคายางพาราแผ่นดิบตามราคาตลาด มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 82 บาท 57 สตางค์ ขณะที่ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 84บาท 50 สตางค์ แม้ยังมีโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางที่กำหนดให้องค์การสวนยางรับซื้อยางแผ่นดิบ ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละ 104 บาท ดำเนินการอย่างต่อเนื่องแต่ก็ไม่สามารถกระตุ้นราคายางให้สูงขึ้น ได้ถึงกิโลกรัมละ 120 บาทตามเป้าหมาย
นายจารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ชี้ให้เห็นว่า การแทรกแซงราคาของรัฐบาลใช้ได้เพียงระยะสั้นๆ ในช่วงแรกของมาตรการเนื่องจากผลทางจิตวิทยา ทำให้ผู้ซื้อตื่นตัวในการซื้อยางพารามากขึ้น แต่ในระยะยาวปัจจัยสำคัญของราคายางไทยก็คือภาวะเศรษฐกิจโลก
เมื่อเปรียบเทียบทิศทางราคายางของไทย กับทิศทางราคายางในตลาดล่วงหน้าที่ใช้อ้างอิงทั่วโลก ในปี 2555 จะพบว่า ราคาอยู่ในทิศทางเดียวกัน โดยราคาเริ่มปรับลดลงต่ำกว่ากิโลกรัมละ 100 บาท ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา จนมีการปรับราคาขึ้นเล็กน้อยในเดือนตุลาคม ซึ่งราคาสอดคล้องกันทั้ง 3 ตลาด ชี้ให้เห็นว่าราคายางของไทยอยู่กับตลาดโลกมากกว่าโครงการแทรกแซงราคาของรัฐบาล ที่ไม่ส่งผลต่อราคาให้สูงขึ้น เพียงแต่ทำให้ราคาทรงตัวอยู่ในระดับหนึ่งเท่านั้น
สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางปัจจุบันได้รับวงเงินจากคณะรัฐมนตรีรวม 40,000 ล้านบาทขณะนี้เบิกจ่ายไปเพียง 2,000 ล้านบาท เพื่อรับซื้อยางจากเกษตร และจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม เช่นเดียวกับความร่วมมือในการลดปริมาณส่งออกของ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่จะยุติลงในวันเดียวกัน
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหรกรณ์ ยืนยันว่า จะไม่ขยายโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางออกไปอีก แต่จะใช้มาตรการอื่นเข้ามาดูแลราคายางแทน ซึ่งเชื่อว่าราคายางในปีนี้จะสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
นายจารึก ยังกล่าวด้วยว่า การสร้างอุตสาหกรรมรองรับปริมาณยางในประเทศนับว่าเป็นทางออกของการยกระดับราคายางที่ดีที่สุด ซึ่งโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางและการลดการส่งออกของประเทศผู้ผลิตยางเป็นเพียงการแก้ที่ปลายเหตุ ซึ่งส่งผลดีเพียงระยะสั้นๆ โดยการทำข้อตกลงลดการส่งออกยางนั้น จะส่งผลกระทบกับเกษตรกรไทยมากกว่าประเทศอื่นิ เพราะไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด ขณะที่อินโดนีเซียมีการผลิตไม่มาก เพราะเป็นช่วงผลัดใบ และประเทศมาเลเซียไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากนำเข้ายางพาราจากประเทศไทย เพื่อไปแปรรูปและส่งออกมากกว่าผลิตเอง