ผู้ว่างงานเหตุถูกเลิกจ้าง ทยอยเข้าฝึกทักษะฝีมือหวังนำไปประกอบอาชีพอิสระ
เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการในหลายจังหวัดว่าได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งนายกิตติรัตน์ ณ ระนองรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ยอมรับผ่านรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน แต่รัฐบาลก็เตรียมมาตรการช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาผลกระทบแล้ว และเชื่อว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะสามารถปรับตัวได้
ทั้งนี้ รัฐบาลจะเน้นการดูแลผู้ประกอบการ เน้นลดผลกระทบค่าใช้จ่าย เพิ่มศักยภาพและรายได้ และช่วยเหลือสภาพคล่อง เพื่อทำให้ผู้ประกอบการประคับประคองธุรกิจได้
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุ 5 มาตรการที่จะเสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 มกราคมนี้ ประกอบด้วย การลดค่าธรรมเนียมห้องพักโรงแรมลงร้อยละ 50 จากปัจจุบันที่จัดเก็บห้องละ 80 บาทต่อปี เป็นเวลา 3 ปี การจัดคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปยังสถานศึกษาและสถานประกอบการ
เพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ การจัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายให้ลูกจ้าง และ การลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 2 โดยคาดว่ามาตรการทั้งหมดจะช่วยธุรกิจให้แข่งขันได้ และเดือนมีนาคมจะมีความชัดเจนถึงการประเมินผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ
บรรดาผู้ว่างงานที่ถูกเลิกจ้างทยอยสมัครเข้ารับการฝึกทักษะฝีมือแรงงาน ด้านช่างแผนกต่างๆ เช่นที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อพัฒนาฝีมือ และนำความรู้ไปประกอบอาชีพอิสระ
ขณะที่โรงงานและสถานประกอบการหลายแห่งทยอยปลดพนักงานที่ด้อยคุณภาพ ทำงานไม่คุ้มกับค่าแรงที่ปรับขึ้นออก รวมถึงผู้ประกอบการบางแห่งต้องปรับตัว เช่น โรงหล่อเครื่องทองเหลืองขนาดเล็กในตำบลนาสะไมย์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร กว่า 7 แห่ง ที่ปรับเปลี่ยนการจ้างแรงงานจากวันละ 250 บาท เป็นจ้างเหมารายชิ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งทำให้แรงงานก็ต้องขยันทำงาน เพื่อมีรายได้ต่อวันเฉลี่ยคนละ 300 ถึง 500 บาท
สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เรียกประชุมคณะกรรมการและสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เพื่อหารือผลกระทบนโยบายปรับค่าแรงของรัฐบาล เนื่องจากสถานประกอบการอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะต้นทุนสูงขึ้น และต้องแข่งขันกับต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า