ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ร้องแก้ระเบียบประกันสังคม เอื้อผู้ว่างงานในระหว่างตั้งครรภ์

6 ม.ค. 56
13:27
218
Logo Thai PBS
ร้องแก้ระเบียบประกันสังคม เอื้อผู้ว่างงานในระหว่างตั้งครรภ์

ระเบียบประกันสังคม ที่กำหนดให้ผู้ประกันตน ที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดเเทนจากกรณีว่างงาน ต้องไปรายงานตัวทุกเดือน เงื่อนไขนี้กำลังเป็นปัญหาสำหรับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสิทธิที่ควรจะได้รับ เนื่องจากสภาพร่างกายไม่เอื้อต่อการเดินทาง จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเเก้ไขระเบียบใหม่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ใช้สิทธิ์ได้ทุกกลุ่ม

<"">
<"">

 

พนักงานโรงงานตัดเย็บชุดชั้นใน ในจังหวัดสระบุรีกลุ่มนี้ กลายเป็นผู้ว่างงานทันที หลังบริษัทปิดกิจการลงกระทันหัน เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา(2555) หลายคนที่กลัวเสียสิทธิ์ การจ่ายประโยชน์ทดเเทนกรณีว่างงาน จึงรีบไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน กับสำนักงานจัดหางานจังหวัด เพื่อขอใช้สิทธิ์ที่ควรจะได้รับ

เเต่การขอใช้สิทธิ์ดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ที่ถูกเลิกจ้าง ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะเงื่อนไขบางข้อ ของระเบียบประกันสังคมในกรณีว่างงาน ไม่เอื้อต่อสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะพวกเธอไม่สามารถไปไหนมาไหนได้สะดวกเหมือนเช่นปกติ

ระเบียบประกันสังคม ได้กำหนดให้ผู้ประกันตน ที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดเเทนกรณีว่างงาน จะต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ยกเว้นผู้ประกันตน มาตรา 39 เเละต้องเป็นผู้ที่อยู่ในเงื่อนไข ตามที่ระเบียบกำหนดไว้ เช่น ต้องจ่ายเงินสมทบกรณีว่างงานมาเเล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ต้องเป็นผู้ที่ไม่ได้ถูกเลิกจ้างเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาเเก่นายจ้าง เป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำงาน พร้อมที่จะทำงานที่จัดหาให้ หรือต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน เเละได้ขึ้นทะเบียนที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ โดยต้องไปรายงานตัวไม่น้อยกว่าเดือนละครั้ง เเละเงื่อนไขข้อหลังนี้เอง ที่ทำให้ผู้ว่างงาน ที่กำลังตั้งครรภ์ ถือเป็นอุปสรรคที่ยากต่อการปฏิบัติ

การกำหนดเงื่อนไขที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด โดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดที่เเตกต่างกันของผู้ขอใช้สิทธิ์ จึงเป็นที่มาของข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานที่ต้องการให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงเเรงงาน พิจารณาเเก้ไขข้อระเบียบใหม่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ใช้สิทธิ์ได้ทุกกลุ่ม

นอกจากนี้ ผู้ใช้เเรงงาน ยังต้องการให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานจากภาครัฐกับภาคประชาชน ในการกำหนดนโยบาย รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเเละคุ้มครองต่างๆ เพราะเชื่อว่าหาก การกำหนดนโยบายเเละการเเก้ไขปัญหา มาจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ในอนาคตกฎหมายคุ้มครองสิทธิ เเละสวัสดิการต่างๆ จะสามารถครอบคลุมเเละเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง