เผยยุทธศาสตร์เจาะตลาดสหรัฐ ครีเอทีฟอีโคโนมี่เนื้อหอม ธุรกิจบริการมาแรง
ทูตพาณิชย์ชี้นโยบายเศรษฐกิจการค้ามะกัน จับตากม.แรงงานและสิ่งแวดล้อม-เอฟทีเอ-นาฟต้า
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงยุทธศาสตร์การเจาะตลาดสหรัฐฯในปี 2556ว่า สินค้าที่มีศักยภาพจะอยู่ในสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์มี 2 ประเภท คือ สินค้าแฟชั่น และ สินค้าอาหาร ส่วนบริการที่มีศักยภาพ ได้แก่ ร้านอาหาร ธุรกิจแฟรนไชส์ สปาและธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจ บันเทิง ธุรกิจเกมและซอฟต์แวร์ กลยุทธ์ในการทำตลาดจะเน้นการเจาะขยายตลาดเข้าสู่กลุ่มตลาดเล็กในตลาดใหญ่ อาทิ ตลาดในรัฐต่างๆ การเสาะหาแหล่งวัตถุดิบและเทคโนโลยี การส่งเสริมสินค้าที่มีศักยภาพ และตลาดพาณิชย์อิเล็กพาณิชย์ รวมถึงขยายช่องทางการตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีศักยภาพสูง(นิชมาร์เก็ต) เช่น ฮิสแปนิสที่มีสัดส่วนประชากรถึง 50 ล้านคน สถาบัน อ้วน เป็นต้น
"การสร้างสรรค์มูลค่าให้กับสินค้าอาหาร เช่น นำมาแปรรูป นำมาพัฒนาเป็นสินค้าพร้อมรับประทาน หรือ สินค้าออร์แกนิกต่างๆ ซึ่งขณะนี้สินค้าเอเชียกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดสหรัฐฯ หรือ สินค้าแฟชั่น คือ การสร้างแบรนด์ให้กับสินค้า โดยในปีที่ผ่านมา สคร. นิวยอร์ก ได้ดำเนินงานตามโครงการแฟชั่น โฟกัสด้วยความร่วมมือจากดีไซน์เนอร์ไทยที่มีความสามารถในสหรัฐฯมาร่วมพัฒนาสินค้าและสร้างแบรนด์ โดยเหล่าดีไซน์เนอร์ได้เดินทางเยือนโรงงานและหารือกับผู้ประกอบการ ถึงแนวทางการพัฒนาและสร้างแบรนด์ ซึ่งมี แบรนด์ไทยในโครงการดังกล่าวสามารถเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาได้แล้ว คือ Mali Kids, Millions of Color, Andrew & Audrey"นางศรีรัตน์ กล่าว
นางสมจินต์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก(สคร. นิวยอร์ก) ประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า ตลาดสหรัฐฯ ในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 5% มีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การบริโภคภายในเพิ่มขึ้น และภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่อัตราการว่างงานลดลง แม้ว่านโยบายด้านเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯที่ไทยยังต้องติดตามจะเข้าสู่ภาวะเข้มข้นมากขึ้น ทั้งเรื่องการสนับสนุนการค้าเสรี, การติดตามและบังคับใช้กฏหมายการค้าสหรัฐฯ และปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ
โดยการเสริมสร้างการดำเนินนโยบายการค้าเสรี จะเกิดขึ้นในลักษณะมุ่งเน้นการบังคับใช้กฏระเบียบด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้าเสรี การรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนในระดับที่เป็นอยู่ โดยจัดการดำเนินการตอบโต้การปฏิบัติทางการค้าของจีน และยังคงใช้การหารือเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาทางด้านการค้ากับจีน และการไม่โอนอ่อนต่อแรงกดดันของรัฐสภาสหรัฐฯ ที่จะให้ดำเนินนโยบายการค้าแบบปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของสหรัฐฯ
ส่วนด้านการติดตามและบังคับใช้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ อาทิ มุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายแรงงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด การปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศคู่ภาคีในความตกลงเอฟทีเอของสหรัฐฯทุกฉบับ( 20 ประเทศ)ที่มีผลบังคับใช้แล้ว รวมถึงการนำความตกลงนาฟต้ามาเจรจาใหม่ การแก้ไขปัญหาทางการค้ากับจีนในลักษณะเชิงรุกมากขึ้น เป็นต้น
สำหรับด้านปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศนั้น จะมีการบังคับใช้กฎหมายแรงงานและสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ อย่างเข้มงวดกับสินค้านำเข้า มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการค้าฝ่ายเดียว โดยไม่เปิดการเจรจาความตกลงเอฟทีเอใหม่ๆ กับประเทศคู่ค้า และนำความตกลงนาฟต้าและความตกลงเอฟทีเอฉบับอื่นๆ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว กลับมาเจรจาใหม่อีกครั้ง เพื่อเพิ่มข้อกำหนดด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมให้มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น ให้การสนับสนุนร่างกฏหมายต่างๆ ที่เป็นการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ และสนับสนุนเรื่องภาษีกับบริษัทที่มีการย้ายฐานผลิตกลับมายังสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
"ลักษณะการค้า-ธุรกิจในตลาดสหรัฐฯในภาพรวมเป็นการค้าแบบเสรี แต่เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันและความซับซ้อนมากที่สุดในโลก เป็นตลาดบริโภคสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของโลก ผู้บริโภคมีระดับความเป็นอยู่ดีและมีกำลังซื้อมากที่สุดในโลก จึงเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคต่อการขยายตลาดสินค้า ความกว้างใหญ่และความแตกต่างกันในด้านสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อความต้องการสินค้า รูปแบบสินค้าและประเภทสินค้าที่แตกต่างกัน ทั้งข้อดีและข้อเสียดังกล่าว ทำให้ตลาดสหรัฐฯมีความเข้มงวดและซับซ้อนในเชิงกฎระเบียบและข้อบังคับมากที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน ดังนั้นการดำเนินการตลาดไม่ว่าในส่วนใด จะเกี่ยวข้องกับกฎหมายหรือต้องพึ่งบริการของนักกฎหมาย เพื่อให้เกิดความถูกต้องและรวดเร็ว" นางสมจินต์ กล่าว