จับตาปัญหาพิพาททางทะเล หลังจีนประกาศสำรวจภูมิประเทศเกาะเตียวอวี๋
สหรัฐฯและญี่ปุ่นเริ่มการฝึกซ้อมรบทางอากาศ โดยมีเครื่องบินขับไล่เอฟเอ 18 ของกองทัพสหรัฐเข้าร่วม 18 ลำ และเครื่องบินขับไล่ เอฟ-4 ของญี่ปุ่นเข้าร่วมอีก 4 ลำ โดยการซ้อมรบครั้งนี้มีขึ้นในพื้นที่นอกชายฝั่งเกาะชิโกกุของประเทศญี่ปุ่น เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเมื่อวันอาทิตย์(13 ม.ค.) กองกำลังป้องกันตนเองทางบกของญี่ปุ่น เพิ่งจัดการซ้อมรบครั้งแรก เพื่อฝึกซ้อมการขับไล่กองกำลังข้าศึกที่รุกรานประเทศ
การซ้อมรบทางอากาศครั้งนี้ ยังเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากทั้งจีนและญี่ปุ่น ต่างส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นคุมเชิงบนน่านฟ้าเหนือเกาะพิพาทเซ็นกากุ หรือเตี้ยวอวี๋ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่ส่งเครื่องบินขับไล่ F-15 ขึ้นสู่ท้องฟ้าหลายครั้งในช่วง2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทั่งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา(10 ม.ค.) มีรายงานว่าจีนส่งเครื่องบินขับไล่ J-10 ขึ้นคุมเชิงเครื่อง F-15 -ของญี่ปุ่น ที่บินติดตามเครื่องบินทหารของจีน เข้าใกล้เกาะเซ็นกากุหรือเตี้ยวอวี๋
ขณะเดียวกันวันนี้(15 ม.ค.)ก็มีรายงานว่าทางการจีนจะทำการสำรวจภูมิประเทศเกาะเตี่ยวอวี๋ หรือเซ็นกากุ ในทะเลจีนตะวันออก ในโครงการสำรวจเพื่อจัดทำแผนที่ที่จีนเรียกว่าเป็น "แผนที่เกาะและแนวปะการังในดินแดนจีน" โดยอ้างเหตุผลเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์พื้นที่ทางทะเลของประเทศ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มต้นการสำรวจเมื่อใด
การประกาศข่าวเตรียมการสำรวจของจีน เกิดขึ้นพร้อมๆกับที่กองทัพจีนได้รับคำสั่งให้เพิ่มศักยภาพในการต่อสู้ในปีนี้ ด้านญี่ปุ่นเองก็ประกาศส่งเรือลาดตระเวนรอบบริเวณเกาะเซ็นกากุ หรือเตี้ยวอวี๋ เพิ่มอีก 2 ลำ ทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาค เริ่มสูงขึ้นอีกครั้ง แม้จะมีความพยายามในการเจรจาทางการทูตเพื่อแก้ปัญหาก็ตาม
ขณะที่วันนี้(15 ม.ค.)มีรายงานว่านายยูกิโอะ ฮาโตยามะ อดีตนายกรัฐมนตรีของพรรค DPJ ของญี่ปุ่น ที่ตอนนี้กลับไปเป็นฝ่ายค้าน เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเป็นการส่วนตัว ตามคำเชิญของสถาบันการต่างประเทศของจีน เพื่อหารือแลกเปลี่ยนกับบรรดาผู้นำจีนเกี่ยวกับแนวคิดการค้าในเอเชียตะวันออก
แต่ก็มีรายงานว่ากระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น ไม่สบายใจนักกับการเดินทางเยือนจีนของอดีตผู้นำญี่ปุ่นในครั้งนี้ เพราะเกรงจะเกิดความสับสนเกี่ยวกับความพยายามหารือเพื่อฟื้นสัมพันธ์ญี่ปุ่น-จีน ในช่วงเวลาละเอียดอ่อน และย้ำว่านายฮาโตยาหมะไม่ใช่ตัวแทนของรัฐบาลปัจจุบัน
ในขณะที่ปัญหาตึงเครียดพรมแดนทางทะเลในเอเชียตะวันออกยังไม่ผ่อนคลาย ก็มีการประกาศยืนยันจากประเทศบรูไน ที่ขึ้นเป็นประธานปัจจุบันของกลุ่มอาเซียน ว่าจะเดินหน้าจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ และให้ได้การรับรองจากบรรดาชาติสมาชิกอาเซียนที่มีปัญหาพื้นทีพิพาททางทะเลในทะเลจีนใต้กับจีน เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ ประเด็นดังกล่าว เป็นประเด็กหลักที่บั่นทอนเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค จึงควรเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาในฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจีน