ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตาธุรกิจ “ค้าปลีกสมัยใหม่ไซส์เล็ก” ขยายตัวสูง แข่งขันรุนแรง

17 ม.ค. 56
11:23
523
Logo Thai PBS
จับตาธุรกิจ “ค้าปลีกสมัยใหม่ไซส์เล็ก” ขยายตัวสูง แข่งขันรุนแรง

ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในปี 2556 น่าจะยังมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 6-8 ใกล้เคียงกับที่คาดว่า ขยายตัวประมาณร้อยละ 7.2 ในปี 2555...

 “ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ไซส์เล็ก”  กลายเป็นโมเดล ค้าปลีกที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากสำหรับปี 2556 นี้ ผู้ประกอบการค้าปลีกแต่ละราย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยและนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีความแข็งแกร่งและมีศักยภาพในการบริหารธุรกิจค้าปลีก ต่างให้ความสนใจที่จะขยายตลาดค้าปลีกขนาดเล็กกันมากขึ้น ส่งสัญญาณให้เห็นถึงการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรง 

 
ดังนั้น การสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจและการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบต่างๆ เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการ นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสรุปประเด็นที่สำคัญของภาพรวมธุรกิจค้าปลีก รวมไปถึงความน่าสนใจของธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็ก โดยมีรายละเอียด ดังนี้
 
จากปัจจัยหนุนทางด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเพิ่มรายได้ของภาครัฐ ซึ่งนอกจากโครงการรับจำนำข้าว มหกรรมลดภาระค่าครองชีพ อาทิ ร้านค้าถูกใจ ที่มีต่อเนื่องจากปี 2555 ยังมีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท เม็ดเงินลงทุนบริหารจัดการน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการขยายตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดเสรี AEC ในปี 2558 ก็จะยิ่งส่งเสริมการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยว และนักลงทุนชาวต่างชาติให้เข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกจะต้องระวังปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะการเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากทั้งราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่อาจจะปรับเพิ่มสูงขึ้นตามการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท และต้นทุนสะสมด้านอื่นๆ ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะผลักภาระด้านต้นทุนไปที่ราคาสินค้า ส่งผลให้ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งการบริโภคและอุปโภคเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้า Ft รอบใหม่ และราคาพลังงาน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อต้นทุนดำเนินการของผู้ประกอบการ และอาจจะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในที่สุด
 
หลากปัจจัยหนุน Model ค้าปลีกขนาดเล็กโตต่อเนื่อง...ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า Model ค้าปลีกขนาดเล็กจะกลายเป็น Model ที่น่าสนใจและมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในปี 2556 โดยมีปัจจัยหนุนมาจาก
 
พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการเน้นความสะดวกรวดเร็ว สินค้าจะซื้อน้อยชิ้นแต่บ่อยครั้งขึ้น ต้องการร้านจำหน่ายสินค้าที่ครบครัน และไม่อยากเสียเวลาในการเดินทางและหาที่จอดรถ ทำให้ผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าใกล้บ้านมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
 
ทำเล หรือพื้นที่ที่เหมาะสมในการขยายธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่เริ่มหายากมากขึ้น อีกทั้งยังต้องใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงและใช้ระยะเวลานานในการคืนทุน ในขณะที่การขยายธุรกิจขนาดเล็กจะสามารถหาพื้นที่ที่เหมาะสมได้ง่ายกว่า และอาศัยเงินลงทุนไม่มากนัก อีกทั้งยังสามารถเจาะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ง่ายมากขึ้น
 
ข้อจำกัดในเรื่องกฎหมายผังเมือง ทำให้การขยายธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กและเข้าใกล้พื้นที่ชุมชน ทำได้ง่ายกว่า ในขณะที่การขยายสาขาขนาดใหญ่ อาจมีข้อจำกัดค่อนข้างมากในเรื่องของกฎหมายผังเมือง และหากร่างพ.ร.บ. ค้าส่งค้าปลีกปีพ.ศ...ของไทย มีความชัดเจนและมีผลบังคับใช้ ก็ยิ่งทำให้การขยายสาขาขนาดใหญ่ทำได้ยากลำบากมากขึ้น
 
ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินการรุกขยายสาขาของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ไซส์เล็ก สามารถแบ่งได้ ดังนี้
 
ร้านค้าปลีกสะดวกซื้อ (Convenience Store) ยังคงเป็นรูปแบบร้านค้าปลีกสมัยใหม่ไซส์เล็กที่ผู้ประกอบการต่างให้ความสนใจและรุกขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากปัจจุบัน มีผู้ประกอบการรายใหม่ หรือผู้ประกอบการค้าปลีกในรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ซัพพลายเออร์สินค้าอุปโภคบริโภคก็หันมารุกขยายตลาดค้าปลีกขนาดเล็กกันมากขึ้น 
 
โดยเฉพาะการรุกขยายสาขาไปยังต่างจังหวัด ซึ่งสอดคล้องไปกับการขยายตัวของความเป็นเมืองที่มุ่งออกสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น (Urbanization) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อพฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2556 มูลค่าตลาดร้านค้าปลีกสะดวกซื้อจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15-20 (YoY) และจัดเป็นร้านค้าปลีกที่ยังคงมีการเติบโตอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับค้าปลีกรูปแบบอื่นๆ 
 
ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ไซส์เล็กแบบผสมผสาน (Mix-Concept) ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่เป็นการแตกไลน์ธุรกิจให้มีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นหลัก เช่น ซูเปอร์-คอนวีเนี่ยน สโตร์ (Super-Convenience Store) มีจุดเด่นคือ เป็นร้านค้าปลีกสะดวกซื้อขนาดเล็กที่นอกจากจะมีการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแล้ว ยังมีการเพิ่มในส่วนของโซนอาหารสดเข้าไปด้วย เช่น ผัก ผลไม้ โดยยังคงเน้นตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกสบาย ซึ่งรูปแบบนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่หันมาให้ความสนใจมากขึ้น และกำลังเริ่มทดลองทำตลาด โดยเน้นจับกลุ่มคนเมืองที่มีกำลังซื้อสูง
 
จับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) ไม่ว่าจะเป็นสถานีบริการน้ำมัน หรือคอนโดมิเนียม ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจนับเป็นอีกหนึ่งวิธี ที่นอกจากจะช่วยลดต้นทุนและลดระยะเวลาในการหาทำเลที่ตั้งใหม่แล้ว หากผู้ประกอบการได้พันธมิตรที่มีศักยภาพและมีเครือข่ายครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ซึ่งมีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว ก็น่าจะช่วยลดต้นทุนในส่วนของการทำการตลาดลงได้ 
 
ปัจจุบันสถานีบริการน้ำมัน หรือคอนโดมิเนียมก็ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวจำนวนมาก อีกทั้งภายหลังจากการเปิดเสรี AEC ในปี 2558 การจับมือร่วมกับพันธมิตรยังสามารถสร้างความแข็งแกร่งและสร้างโอกาสทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการค้าปลีกได้มากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ภายในปี 2558 จะมีจำนวนสาขาร้านค้าปลีกสมัยใหม่ไซส์เล็กเปิดให้บริการในสถานที่ดังกล่าวเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 700 สาขา จากปัจจุบันที่มีการเปิดสาขาไปแล้วประมาณ 870 สาขา
 
ภาพรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จากแผนการรุกขยายธุรกิจของผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งหมด ทำให้จำนวนสาขาของค้าปลีกขนาดเล็กทั่วประเทศ น่าจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1,000 สาขา ทำให้มีจำนวนสาขารวมกันไม่ต่ำกว่า 11,000 สาขา ในปี 2556 และเมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ซึ่งมีรูปแบบร้านค้าปลีกใกล้เคียงกับไทย (แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจจะพัฒนากว่าไทยค่อนข้างมาก) พบว่า สัดส่วนของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ไซส์เล็กของไทยต่อความหนาแน่นของประชากรยังต่ำ ดังนั้น จึงอาจเป็นนัยที่บ่งชี้ว่า ไทยยังมีโอกาสที่จะขยายสาขา Model ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ไซส์เล็กได้อีก โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด
 
การรุกขยายสาขาค้าปลีกขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้น นำมาซึ่งการแข่งขันที่รุนแรง และทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีต้องปรับตัว...ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการไทยเท่านั้น สัญญาณการรุกเข้ามาขยายการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในรูปแบบค้าปลีกดังกล่าว อาทิ ประเทศญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศในอาเซียนอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ก็เริ่มเข้ามาศึกษาโอกาสทางการขยายตัวของตลาดและขยายการลงทุนในไทยกันมากขึ้น 
 
คาดว่าจะทยอยรุกเข้ามาเพิ่มขึ้นอีก พร้อมๆ กับการเปิดเสรี AEC ในปี 2558 ดังนั้น การดำเนินธุรกิจค้าปลีกของไทยนับจากนี้ไป น่าจะเห็นภาพของการปรับตัวและการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอาจจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและแข่งขันได้ 
 
ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่นับตั้งแต่วันนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยจะต้องเร่งปรับตัว โดยอาจจะเริ่มจากการมองหาจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง มาพัฒนาและปรับปรุงสินค้าและบริการให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางหลากปัจจัยท้าทาย 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง