เสนอให้ส่งโรฮิงญาไปประเทศที่ 3
ชะตากรรมชาวโรฮิงญาเกือบ 1,000 คน ที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ หลังอพยพจากจังหวัดสิตต่วย จังหวัดม่องดอ และจังหวัดบูติเต่า รัฐยะไข่ ประเทศพม่า ข้ามทะเลระยะทางเกือบ 1,000 ไมล์ทะเล เพื่อเดินทางไปยังประเทศที่ 3 หลังตกเป็นผู้ไร้สัญชาติ และไร้แผ่นดินที่จะยืนมากว่า 100 ปี เพราะไม่ถูกยอมรับจากประเทศพม่า และบังคลาเทศ ทำให้ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ตามพรมแดนทั้ง 2 ประเทศ ต้องดิ้นรนหาถิ่นฐานเพื่อความอยู่รอด
บรรพบุรุษเดิมชาวโรฮิงญา พบว่าส่วนใหญ่เป็นชาวบังคลาเทศ และอินเดีย เมื่อ 100 ปีก่อน โรฮิงญาทั้ง 2 กลุ่ม ถูกว่าจ้างจากบริษัทตะวันออกของอังกฤษให้เป็นทหารรับจ้าง เพื่อจัดตั้งกองพลสู้รบกับพม่า และสามารถยึดพม่าขณะนั้นได้สำเร็จ ถัดมาในปี ค.ศ. 1948 ทางการพม่าได้สู้รบกับอังกฤษสามารถยึดเมืองคืนได้อีกครั้ง และได้ขับไล่ทหารรับจ้างชาวโรฮิงญาจำนวน 7 กองพล ออกนอกประเทศ
แต่ชาวโรฮิงญาบางส่วนไม่ยอมกลับประเทศหลบซ่อนตัวอยู่ที่รัฐยะไข่ และเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่าต่อสู้กับทางการพม่าขอแยกรัฐยะไข่เป็นเอกเทศ เมื่อถึงยุคนายพลเนวินเข้ายึดอำนาจในพม่า และสามารถจัดตั้งรัฐบาลสังคมนิยมพม่าได้ส่งกำลัง 3 กองพล เข้าโจมตีพรรคคอมมิวนิสต์ และกองกำลังโรฮิงญา ยึดคืนพื้นที่รัฐยะไข่ได้สำเร็จ จึงขับไล่ชาวโรฮิงญาสัญชาติบังคลาเทศ และ อินเดีย ให้ไปอยู่ที่เมืองบ๊อกบาซา ชายแดนบังคลาเทศ
แต่ความยากจนทำให้ชาวโรฮิงญาเข้าปล้นทรัพย์สิน และฆ่าชาวบ้าน ทำให้รัฐบาลบังคลาเทศได้ขับไล่ชาวโรฮิงญากลับไปที่เมืองม่องดอ รัฐยะไข่ ประเทศพม่า เช่นเดิมแต่ชาวโรฮิงญา ยังก่อปัญหาปล้นฆ่าชาวพม่าซ้ำอีก ทำให้รัฐบาลนายพลเอกต่านส่วย ซึ่งครองอำนาจต่อจากนายพลเนวิน ขับไล่ชาวโรฮิงญา ไปอยู่ทางตอนเหนือรัฐยะไข่ ให้เป็นที่มั่นสุดท้าย
การไร้สัญชาติของชาวโรฮิงญา และไม่มีสิทธิทำกิน และประกอบอาชีพในประเทศพม่าในอดีตถึงปัจจุบัน ทำให้ชาวโรฮิงญาพยายามทุกวิถีทางเพื่อขอลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 บางคนยอมเสี่ยงชีวิต นั่งเรือข้ามทะเล เข้าเขตน่านน้ำไทย เพื่อให้ถูกจับกุม โดยหวังว่าจะถูกส่งตัวไปยังประเทศอื่นในฐานะผู้ลี้ภัย เพื่อให้มีผืนแผ่นดินยืนบนโลกใบนี้