จับตานโยบายบริหารเมืองของผู้ว่าฯกทม.คนล่าสุดและข้อเสนอเครือข่ายประชาชน

การเมือง
21 ม.ค. 56
02:13
105
Logo Thai PBS
จับตานโยบายบริหารเมืองของผู้ว่าฯกทม.คนล่าสุดและข้อเสนอเครือข่ายประชาชน

ระหว่างนโยบายบริหารเมืองของผู้ว่าฯกทม.คนล่าสุด กับข้อเสนอของเครือข่ายประชาชน มีหลายโครงการในหลายข้อที่ตรงกัน และได้รับการผลักดันจนค่อนข้างเห็นผล

เรื่องของการศึกษา ทั้งภาคประชาสังคมและกรุงเทพมหานคร เห็นตรงกันว่า ต้องสนับสนุนโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาให้กับเด็กทุกคนในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นประชากรในพื้นที่ หรือประชากรแฝง และไม่ใช่แค่ความเท่าเทียมเท่านั้น การศึกษาที่เด็กๆเหล่านี้ได้รับ จะต้องมีคุณภาพด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครเปิดให้นักเรียนในสังกัดโรงเรียนกทม. เรียนฟรี ปรับรูปแบบการเรียนการสอนด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ควบคู่กับการเรียนการสอน จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลก ประจำปี 2556

 
มาที่นโยบายด้านสุขภาพกันบ้าง เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯเน้นเรื่องของการให้บริการสุขภาพที่ทั่วถึงและเป็นธรรม ขณะที่กรุงเทพมหานครเองก็พยายามพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของโรงพยาบาลและศูนย์สาธารณสุขในสังกัด ควบคู่ไปกับการให้ประชาชนทุกกลุ่ม เข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพ แม้จะยังไม่ครอบคลุมอย่างที่ตั้งเป้าไว้ แต่ก็ถือว่า เป็นทิศทางที่ดี
 
อีกเรื่องที่เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ เห็นว่า ยังต้อการนโยบายที่ชัดเจนจากฝ่ายบริหาร คือเรื่องของสิ่งแวดล้อมค่ะ เพราะที่ผ่านมา ชัดเจนแค่เรื่องของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง แต่ไม่ได้พูดถึงการรักษาพื้นที่สีเขียวโดยภาพรวมของทั้งเมืองเอาไว้ และปะเด็นสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพน้ำ ปัญหาขยะ หรือคุณภาพอากาศ 
 
ต่อกันที่อีกปัญหาใหญ่ของคนเมืองอย่างปัญหารถติด แม้นี่จะไม่ใช่อำนาจของกทม.โดยตรง แต่ภาคประชาสังคมมองว่า กทม.สามารถสร้างบทบาทให้ตัวเองเป็นผู้ประสานงาน ระหว่างหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบขนส่งทางเลือกที่อยู่ในความรับผิดชอบ อย่างในอนาคต ที่รัฐมีแผนขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 10 สาย จะมีจุดตัดกับท่าเรือโดยสารถึง 7 จุดด้วยกัน นายกสมาคมเรือไทย หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ มองว่า กทม.ควรใช้โอกาสนี้ พัฒนาระบบเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ เพื่อบรรเทาความหนาแน่นของการจราจรทางบก
 
มาที่เรื่องของเยาวชน 4 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายเยาวชนที่ร่วมเป็นภาคีพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ มองว่า กทม.มุ่งเน้นไปที่โครงการจับต้องได้ อย่างการพัฒนาระบบการศึกษา ด้วยการสานต่อนโยบายจากผู้ว่าฯคนก่อน ที่สังกัดพรรคเดียวกัน ทั้งโครงการเรียนฟรีเรียนดี และยกระดับโรงเรียนสังกัดกทม. รวมไปถึงการเพิ่มพื้นที่ให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์แต่กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ที่จะรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากเยาวชน เป็นสิ่งที่ยังไม่ชัดเจน
 
ออกไปชานเมืองกันบ้าง นโยบายส่งเสริมและรักษาพื้นที่เกษตรกรรมของกรุงเทพฯ แทบจะไม่ใช่นโยบายหลักของกทม.ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แต่กลับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯเสนอ พวกเขามองว่า จนถึงวันนี้ น่าเสียดายที่หลายโครงการไม่ได้ถูกสานต่อ สถานการณ์พื้นที่เกษตรก็ถูกรุกจากการขยายเมืองมากขึ้นเรื่อย ขณะที่หลายชุมชน พยายามรวมตัวอย่างเข้มแข็ง แต่การหนุนเสริมจากกทม. ส่วนมากจะมาในรูปงบประมาณ เพื่อการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ไม่ตรงกับสภาพปัญหาสักเท่าไร
 
ปิดท้ายกันที่เรื่องของการขับเคลื่อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่ภาคประชาสังคมมองว่า เป็นประเด็นสำคัญที่สุด แต่ 4 ปีที่ผ่านมา พวกเค้ามองว่า กทม.ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน โดยเฉพาะการปรับแก้โครงสร้างการทำงานของกทม.หรือพระราชบัญญัติบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่ใช้มาเกือบ 30 ปี เรื่องของพ.ร.บ.บริหารราชกทม. เป็นเงื่อนไขสำคัญนะคะ ที่หลายฝ่าย รวมทั้งอดีตผู้ว่าฯกทม.ในหลายสมัย มองว่า ทำให้หลายเรื่องตัดขัด บางเรื่องขาดเอกภาพ บางเรื่องรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป ขณะที่บางเรื่อง อำนาจไม่ชัดเจน จนหลายปัญหาไม่สามารถเดินหน้าแก้ไขให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้
 
ข้อเสนอของภาคประชาชนที่ไม่ค่อยได้รับการตอบรับและสานต่อจากภาคการเมืองมากนัก เครือข่ายเปลี่ยนกรุงเทพฯมองว่า มาจาก 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกก็ความกระตือรือร้นและใส่ใจของนักการเมือง ส่วนที่ 2 มาจากโครงสร้างการทำงานของท้องถิ่นที่ไม่เอื้ออำนวย และส่วนสุดท้าย พวกเขายอมรับว่า มาจากการขาดการติดตามของภาคประชาชนเอง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง