ทำ
แนะการเตรียมถุงยังชีพฉุกเฉิน วิธีปฏิบัติตัวสำหรับผู้พิการ ดึง "ป็อด โมเดิร์นด็อก" พากย์หนังสือเสียงเดซี่
ภัยพิบัติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ไม่สามารถคาดเดาเวลาและสถานการณ์ได้ ดังนั้นการเกิดภัยพิบัติทุกครั้งจึงมักสร้างความเดือดร้อน สร้างความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนในวงกว้าง และนอกจากกลุ่มประชาชนทั่วไป คนอีกกลุ่มที่ต้องได้รับผลกระทบอย่างหนัก ก็คือ กลุ่มผู้พิการ และผู้บกพร่องในด้านต่างๆ ด้วยเพราะข้อจำกัดในหลายด้าน
เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และภาคีเครือข่าย ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก Royal Thai government (RTG) World Health Organization (WHO)collaboration Thematic Area Disaster Management จัดทำคู่มือหนังสือการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติสำหรับผู้พิการทางการมองเห็นขึ้น ซึ่งเป็นการนำร่องการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติสำหรับผู้พิการ
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รักษาการเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า คู่มือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้พิการทางการมองเห็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเหตุการณ์ภัยพิบัติ จะช่วยสร้างการตระหนัก สร้างการเรียนรู้ให้เกิดการเตรียมตัวเพื่อป้องกัน และลดความเสี่ยงในการสูญเสีย สำหรับคู่มือการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติสำหรับผู้พิการทางการมองเห็นจะประกอบด้วยชุดความรู้ที่ผู้พิการทางสายตาสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง หากเกิดภัยพิบัติ อาทิ วิธีการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ วิธีการเตรียมกระเป๋ายังชีพ ซึ่งเป็นกระเป๋าที่บรรจุสิ่งของที่จำเป็น ให้สามารถเอาตัวรอดและดำรงชีวิตในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ โดยสิ่งของในกระเป๋านั้นจะถูกจัดแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ คือ
1.สิ่งของที่จะนำไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน และจำเป็น อาทิ น้ำดื่ม อาหารแห้ง ไฟแช็ค ผ้า ถุงพลาสติก เชือกที่มีความแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักคนได้ เพื่อสามารถนำมาดัดแปลงใช้เป็นบันไดฉุกเฉินได้ และที่สำคัญคือชุดปฐมพยาบาล
2.หมวดหมู่สิ่งของมีค่า ประกอบด้วย เอกสารหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชน โดยควรถ่ายเอกสารสำเนาไว้ในกระเป๋ายังชีพเตรียมพร้อมไว้เสมอ รวมถึงเงินสด กุญแจบ้าน โทรศัพท์มือถือก็ควรเตรียมไว้ให้หยิบใช้ได้อย่างทันท่วงที และ
3.สิ่งของจำเพาะสำหรับกลุ่มคนที่มีความต้องการแตกต่างกัน เช่น บัตรประจำตัวผู้พิการ แว่นสายตา เครื่องช่วยฟัง ฯลฯ นอกจากนี้เพื่อความสะดวกในการใช้งานควรมีการจัดเตรียมกระเป๋ายังชีพไว้ให้พร้อมสำหรับการใช้งานอยู่เสมอ 1 คนต่อ 1 ใบ และวางไว้ในจุดที่สามารถหยิบฉวยได้ง่าย และที่สำคัญหากเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้าน นายวิรัช ศรีตุลานนท์ ประธานสภาผู้ทรงคุณวุฒิ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยและประธานมูลนิธิคนตาบอดไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาในยามภัยพิบัติผู้พิการทางสายตาก็จะช่วยเหลือและดูแลซึ่งกันและกัน โดยในเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาหลายหน่วยงานก็พยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่ก็ติดปัญหาด้วยข้อจำกัดของผู้พิการเอง ทำให้การช่วยเหลือไม่ตรงจุด และไม่ตรงตามความต้องการของผู้พิการ อย่างกรณีของผู้พิการทางสายตาก็ไม่สามารถปฏิบัติและให้การช่วยเหลือเหมือนคนทั่วไปได้ เพราะเรามองไม่เห็น
คู่มือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมากเพราะจะทำให้ผู้พิการทางสายตานำไปปรับใช้ปฏิบัติและเตรียมตัวก่อนจะเกิดภัยพิบัติได้ โดยต่อจากนี้สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย จะนำคู่มือดังกล่าวที่ได้รับแจกกว่า 1,500 ชุด ไปกระจายให้กับผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศและนำไปประชาสัมพันธ์ผ่านสายด่วนคลังความรู้ 1414 ซึ่งหากผู้พิการทางสายตาคนใดอยากรู้ข้อมูลก็สามารถโทรเข้ามาฟังได้เพราะเราให้บริการฟรี ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมและมีผู้ใช้มากกว่าหนึ่งแสนรายต่อเดือน
สำหรับหนังสือเสียงเดซี่ (Digital Accessible Information System:DAISY) เป็นหนังสือเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ โดยจะใช้การอ่านออกเสียงและบันทึกเสียงให้ผู้พิการทางสายตาได้เปิดฟัง โดยหนังสือเสียงดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยสพฉ.และภาคีเครือข่ายจะมีข้อมูลเรื่องการเตตรียมตัวรับมือในช่วงภัยหนาว สึนามิ พายุ และดินโคลนถล่ม โดยได้นักร้องชื่อดังธนชัย อุชชิน หรือป๊อด โมเดิร์นด็อกมาร่วมบันทึกเสียงหนังสือเสียงเดซี่ดังกล่าวด้วย