ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปมร้อน “กลุ่มกรีน” ยื่น ส.ว.สอบ กสทช.เร่งอนุมัติใบอนุญาตดาวเทียม 20 ปี ให้"ไทยคม"

เศรษฐกิจ
21 ม.ค. 56
10:50
87
Logo Thai PBS
ปมร้อน “กลุ่มกรีน” ยื่น ส.ว.สอบ กสทช.เร่งอนุมัติใบอนุญาตดาวเทียม 20 ปี ให้"ไทยคม"

ระบุหลักเกณฑ์ยังร่างไม่เสร็จ แต่กลับเปิดช่องให้กิจการดาวเทียมของชาติตกไปอยู่ในมือเอกชน/กลุ่มทุน

  นายจาตุรันต์ บุญเบญจรัตน์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานกลุ่มกรีน และนายประกิต จันทร์สมวงศ์ กรรมการกลุ่มกรีน เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล ของวฺฒิสภา เมื่อวันที่ 21  มกราคม ที่มีนางรสนา โตสิตระกูล เป็นประธาน เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมให้กับ บริษัทไทยคม (จำกัด) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

 
โดยเนื้อหาที่ยื่นร้องเรียนระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการกระสายเสียงวิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช) โดยคณะกรรมการฝ่าย กทค.หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม  ออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมให้กับ บริษัท ไทยคม (จำกัด)
 
มีข้อน่าเคลือบแคลงสงสัยหลายประการว่าการออกใบอนุญาตครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปอย่างโปร่งใสหรือไม่ เช่น ไม่มีการประมูล โดย กทค.อ้างว่า ดาวเทียมเป็นวัตถุที่ลอยอยู่บนท้องฟ้าเกินกว่า 100 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าโคจรอยู่นอกเหนือเขตอธิปไตยของประเทศไทย และถือเป็นหน้าที่ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ  ITU  ในการกำกับดูแลกฎระเบียบเกี่ยวกับดาวเทียม  ด้วยเหตุนี้จึงไม่เข้าลักษณะตามความมาตรา 45 ของ  พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 
 
ทั้งนี้ กลุ่มกรีน (Green Politics) เห็นว่าประเด็นปัญหาสำคัญคือ ถ้า กทค. ตีความว่าดาวเทียมโคจรอยู่นอกเหนืออธิปไตยของชาติใดชาติหนึ่งและทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายในประเทศนั้นๆ ได้ ก็เท่ากับว่าจะไม่มีชาติใดมีสิทธิมีอำนาจในการกำกับดูแลการให้บริการดาวเทียมของตนได้เลย ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะมีข้อเท็จจริงยืนยันว่าประเทศสหรัฐฯและบราซิล เคยมีการเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียม  
ฉะนั้นถือว่าตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นวงโคจร 120 หรือ 50.5 องศาตะวันออก ถือเป็นสิทธิของประเทศไทยที่ได้รับการจัดสรรจาก  ITU  จึงถือเป็นอำนาจอธิปไตยของไทยที่จะจัดการกับวงโคจรดังกล่าวภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศ และภายใต้อธิปไตยทางนิติบัญญัติของไทย
 
การตีความของ กทค. แบบนี้เปิดช่องให้กิจการดาวเทียมของชาติตกไปอยู่ในมือเอกชนหรือกลุ่มทุนจนล่อแหลมต่อความมั่นคงของประเทศในระยะยาวด้วยเพราะกิจการดาวเทียมสำคัญต่อปัญหาความมั่นคงและปัญหาทรัพยากรของโลกด้วย 
นอกจากนี้การบอกใบอนูญาตครั้งนี้ทำแบบรวบรัดตัดตอน ลุกลี้ลุกลนผิดปกติ ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นกับองค์กรอย่าง กสทช. เพราะที่ประชุม  กทค.  เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 ได้อนุมัติออกใบอณุญาติให้กับบริษัททยคม ทั้งที่หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมยังอยู่ในขั้นตอนการยกร่างเท่านั้น   
ทำให้กิจการดาวเทียมของชาติเกิดการผูกขาดไปอีกอย่างน้อย 20 ปี ก่อให้เกิดความเสียหายไม่ต่างจากกรณีการเปิดประมูล 3G ที่ยังคาราคาซังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ หรืออาจจะเลวร้ายกว่าด้วยซ้ำเพราะไม่มีการประมูลเป็นการประเคนใบอนุญาติให้บริษัทไทยคม (จำกัด) ไปแบบง่ายๆ
 
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มกรีน (Green Politics) จึงเรียกร้องยังคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล ของวฺฒิสภา ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในการปฏิบัติหน้าที่ของ กทค.ครั้งนี้ว่าส่อเจตนาละเมิดทั้ง พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553  และเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือไม่
 
ด้านนางรสนา ระบุว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ จะเชิญผุ้เกี่ยวข้อมาชี้แจง โดยจะวางประเด็นการสอบสวนไว้  3 เรื่อง คือ ข้อกฎหมายว่า กทค.มีอำนาจออกใบอนุญาตให้ไทยคม  โดยไม่ผ่านการประมูลหรือไม่  และอีกประเด็น คือใบอนุญาตที่ให้ไทยคม นาน 20 ปี ถือว่าเป็นการล็อก หรือผูกขาดโดยธรรมชาติหรือไม่ ส่งผลทำให้รายอื่นแข่งขันไม่ได้หรือไม่ และสุดท้าย ข้ออ้างของบอร์ด กทค.ทีว่า ดาวเทียมเป็นวัตถุที่ลอยอยู่บนท้องฟ้าเกินกว่า 100 กิโลเมตร ถือว่าโคจรอยู่นอกเหนือเขตอธิปไตยของประเทศไทย และถือเป็นหน้าที่ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)  ในการกำกับดูแลกฎระเบียบเกี่ยวกับดาวเทียมเป็นข้อเท็จจริงอย่างไร 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง