สมมติฐาน
กล้องวงจรปิด 2 ตัวที่ถูกเผาเมื่อกลางดึกวันอาทิตย์ที่ผ่านมาบริเวณด้านหลังโรงเรียนเทศบาล 5 ริมถนนเลี่ยงเมือง อำเภอเมืองยะลา เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกล้องวงจรปิดล่าสุด หลังเมื่อ 9 วันก่อนกล้องวงจรปิดถูกเผาพร้อมกัน 116 ตัว แต่พบว่า 72 ตัวเป็นของสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทยที่อยู่ระหว่างการส่งมอบซึ่งยังไม่สามารถใช้งานได้ ส่วน 44 ตัวเป็นของ อบต. 18 แห่งที่ได้ตรวจรับงานไปแล้ว แต่การใช้งานไม่มีคุณภาพมากนัก
ประเด็นการสอบสวนเหตุเผากล้องวงจรปิดของจังหวัดยะลา ให้น้ำหนักไปที่การเสียผลประโยชน์ของโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด มูลค่า 969 ล้านบาท เพราะกล้องส่วนใหญ่ที่ถูกเผาเป็นกล้องของบริษัทไทยทรานสมิทชั่นที่ได้ประมูลจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบออนไลน์ หรือ อีอ๊อคชั่น แทนบริษัทดิจิตัล รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด หรือ ดีอาร์ซี ที่กระทรวงมหาดไทยได้ยกเลิกสัญญาไปในสมัยของนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงมหาดไทยเพราะส่งมอบงานไม่ทัน
โดยครั้งนั้นทำให้รัฐเสียหายจากค่าปรับที่ควรได้หลายร้อยล้านบาท แต่ยังถูกฟ้องกลับจากบริษัทเอกชนเป็นเงิน 250 ล้านบาท โดยอ้างว่าบริษัทได้ติดตั้งกล้องไปแล้วกว่า ร้อยละ 10
นอกจากนี้ ยังพบว่า กล้องบางส่วนที่ถูกเผาเป็นของ อบต. ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างกันเอง โดยไม่ผ่านการกำหนดคุณภาพ หรือ สเป็กของกล้อง และการใช้งานไม่มีประสิทธิภาพมากนัก แต่สิ่งที่มองข้ามไปได้ คือ การเผากล้องวงจรปิดครั้งนี้ มีการสั่งการจากคนเดียวกัน เพราะกำหนดห้วงเวลาและลักษณะการก่อเหตุที่คล้ายคลึงกัน จึงอาจมีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ และแนวร่วมอาจมีความเชื่อมโยงกัน
ปัจจุบันจังหวัดยะลามีกล้องวงจรปิดรวม 1935 ตัวเป็นของกระทรวงมหาดไทย 618 ตัว ซึ่งอยู่ระหว่างการส่งมอบงาน ของกรมการปกครอง 136 ตัว แต่ใช้งานได้จริงแค่ 78 ตัว ขององค์กรส่วนท้องถิ่น อย่าง อบต.มี 817 ตัว แต่ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเพราะไม่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ส่วนของเทศบาลนครยะลา 364 ตัว สามารถใช้งานได้ทั้งหมด แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้หน่วยงานต่าง ๆ จะมีงบจัดซื้อกล้องวงจรปิด แต่งบในการดูแลมีน้อยมากทำให้กล้องวงจรปิดเกือบครึ่งหนึ่งไม่สามารถใช้งานได้ เมื่อผ่านการติดตั้งไปแล้ว 1-2 ปี