ทรู ยอมจ่ายแล้ว 23.3 ล้าน เหตุค่าปรับอายุบัตรเติมเงิน
แต่เอไอเอส - ดีแทค ยังกำหนดวันหมดอายุ อ้างมีปัญหาทางเทคนิค
ที่สำนักงานกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์เลขาธิการกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยเมื่อวันที่23มกราคม ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ว่า หลังจากที่สำนักงานกสทช. ได้แจ้งผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายที่ให้บริการในระบบเติมเงิน(พรีเพด) ว่าตั้งแต่วันที่ 18 มกราคมเป็นต้นไปต้องปฏิบัติตามข้อ 11 ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) เรื่องมาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ที่ห้ามกำหนดวันหมดอายุของโทรศัพท์ระบบเติมเงินคำสั่งทางปกครองของ กสทช. เรื่องผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการประเภทเสียงภายในประเทศ ที่กำหนดให้อัตราค่าบริการต้องไม่เกิน 99 สตางค์ต่อนาทีและผู้ประกอบการต้องจัดเก็บฐานข้อมูลตัวเลขบัตรประชาชน 13 หลักก่อนเปิดบริการทุกครั้ง
ทางบริษัท ทรูมูฟ จำกัด สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ค่าปรับของทรู ที่ต้องจ่ายวันละ 1 แสนบาท จะได้รับการพิจารณาปรับตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.2555 และสิ้นสุดลงในวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมารวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 23.3 ล้านบาท ทั้งนี้ทรูได้เสนอเงื่อนไขเพิ่มเติมต่อกสทช. เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดวันหมดอายุของโทรศัพท์ระบบเติมเงินคือ ผู้ใช้บริการทุกมูลค่าจะได้รับระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 365 วัน ซึ่งทางคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)จะพิจารณาอีกครั้ง และหารือในที่ประชุมอีกครั้งภายในสัปดาห์หน้า
ด้านผู้ประกอบการอีก 2 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นจำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่า 2 บริษัทดังกล่าวยังไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดที่กสทช.กำหนดไว้ได้ ฉะนั้นแล้วมติที่ประชุมกทค. จึงเห็นว่าทางเอไอเอสและ ดีแทค ยังไม่ได้ปฏิบัติตาม ค่าปรับจึงยังคงดำเนินต่อไปวันละ 1 แสนบาท จนกว่าทั้ง 2 รายจะปฏิบัติตามที่ กสทช.กำหนด
โดยค่าปรับดังกล่าวนั้นเฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบการกำหนดวันหมดอายุในระบบบัตรเติมเงินเท่านั้นไม่รวมถึงกรณีการไม่จัดเก็บฐานข้อมูลตัวเลขบัตรประชาชน 13 หลักก่อนเปิดบริการของผู้ซื้อที่จะต้องถูกปรับอีกวันละ 8 หมื่นบาท ในช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่30 มิถุนายน 2555 - 17 มกราคม 2556เนื่องจากผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขตั้งแต่วันที่ 18มกราคม 2556 แต่ทั้งนี้กสทช.จะคำนวณค่าปรับทั้งหมดอีกครั้ง เป็นผลให้กสทช.จะปรับเอกชนไม่ต่ำกว่า 100ล้านบาท
"จากการลงพื้นที่พบว่าแพคเกจของเอไอเอส และดีแทค ยังมีการกำหนดวันอายุอยู่ กสทช. จึงต้องตั้งคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไข ด้านเอไอเอสยังไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข โดยรวม คือ ปฏิบัติตาม 50% ส่วนดีแทคมีเฉพาะแพคเกจคงกระพัน ที่กำหนดระยะเวลาการใช้งานได้ 30 วัน ส่วนแพจเกจอื่นก็ยังมีการกำหนดวันหมดอายุอยู่โดยให้เหตุผลว่าติดปัญหาด้านเทคนิค ซึ่งไม่ใช่การอ้างเหตุผล เพราะทรูทำได้ ดังนั้นเอไอเอสและดีแทค จึงยังไม่ปฏิบัติ และค่าปรับต้องดำเนินต่อไป โดยหลังจากนี้กสทช.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำหนดอัตราค่าปรับบทลงโทษ จากนั้นจะส่งหนังสือทวงถามค่าปรับจากทั้ง 3ค่าย" นายฐากรกล่าว