การดำเนินโยบายแบบประชานิยมของรัฐบาลที่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลทำให้หลายฝ่ายเกิดความเป็นห่วงถึงวินัยทางการคลัง ว่าอาจจะก่อให้เกิดหนี้สาธารณะระดับสูงในอนาคต โดยในงานสัมมนาโจทย์ท้าทาย "อนาคตเศรษฐกิจไทยปี 2556" ซึ่งนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแนวทางออกไว้อย่างน่าสนใจ โดยอาจต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับนโยบายประชานิยม เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ และ รมว.กระทรวงการคลัง มองว่า หนี้สาธารณะมาจากโครงการต่าง ๆ ทั้งการกู้ในระบบ เช่น โครงการรับจำนำข้าว โครงการรถคันแรก และ การกู้นอกระบบ เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ และ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หากไม่นับรวมหนี้ที่ไม่เปิดเผยอาจทำให้ปี 2562 จะทำให้ไทยมีหนี้สาธารณะสูงถึง 63.7 เกินกรอบวินัยทางการคลัง
ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นว่า รัฐบาลสอบตกในเรื่องของวินัยทางการคลัง ที่ผ่านมาพบว่า การเบิกจ่ายเงินในโครงการต่างๆ ล่าช้าไม่เป็นไปตามพระราชกำหนด พร้อมเสนอให้รัฐบาลลดการก่อหนี้เพิ่มและหันเน้นการใช้รายได้จากการเก็บภาษีแทนการกู้ รวมทั้งจำกัดนโยบายประชานิยมให้ลดลง
ด้านธนาคารโลก กล่าวถึงหนี้สาธารณะของไทยว่าหากต้องมีการลงทุนด้านโครงการพื้นฐาน หรือ การกู้เงินบริหารจัดการน้ำอาจทำให้หนี้สาธารณะของไทยแตะที่ร้อยละ 50 ของจีดีพี แต่ประเมินว่าไม่น่าจะกระทบต่อฐานะทางการคลัง หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวตามที่คาดการณ์ พร้อมแนะว่า รัฐบาลควรลงทุนในระยะยาวแทนการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น