วิชาเด็กหัดเขียน
"รักครู ถึงจะไม่เจอหน้ากัน แต่ก็เป็นกำลังใจให้ครูนะคะ" ข้อความสั้นๆ เพียง 1 บรรทัดในโปสการ์ด กลั่นออกมาจากใจของเด็กๆ ชั้น ป.1 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ฝ่ายประถม ไม่เพียงส่งกำลังใจไปถึงรุ่นพี่คณะศึกษาศาสตร์ที่ไปเป็นครูสอนหนังสือที่ภาคใต้ หากโครงการ "กำลังใจจากน้องถึงพี่ครูภาคใต้" ส่วนหนึ่งของวิชา "กระบวนทัศน์การศึกษา" ที่หวังฟื้นฟูทักษะการเขียน โดยใช้โปสการ์ดฝึกให้เด็กอนุบาลถึงระดับอุดมศึกษา ฝึกจับใจความ ใส่ใจประโยคบนพื้นที่เล็กๆ สร้างความประทับใจให้ผู้รับ เมื่อทุกวันนี้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้ผู้คนแทบไม่ได้ใช้มือเขียนหนังสือ และทักษะอื่นๆ ที่มาพร้อมการเขียนเริ่มหายไป
สุปราณี ใบหมัด นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มศว กล่าวว่า อิจฉาคนสมัยก่อน เค้าลายมือสวยกันมาก หนูว่ามันต้องฝึกฝน เพราะลายมือเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งที่เราต้องการสื่อ
วรวุฒิ สุภาพ อาจารย์ผู้จัดทำโครงการกำลังใจจากน้องถึงพี่ครูภาคใต้ กล่าวว่า เด็กจะคิดเร็วกดเร็ว ไอคิดเร็วกดเร็วเนี่ยแหละที่ทำให้สิ่งที่มันหายไป คือการสะกดคำที่ถูกต้อง คอมพิวเตอร์ที่มันช่วยแก้คำอัตโนมัติ ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ใส่ใจ คือปัญหานึงที่เรามองว่าไม่ได้ และต้องกลับมาให้เด็กเริ่มเขียนกันอีกครั้งนึง
ทุกวันนี้เราติดต่อสื่อสารกันด้วยเทคโนโลยี ไม่ว่าจะคอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต ทำให้การเขียนด้วยมือนั้นอาจจะลดน้อยลงไป แต่ถ้าพูดถึงการฝึกเขียนก็ควรจะเริ่มตั้งแต่เด็กอยู่ชั้น ป.1 เพราะกล้ามเนื้อมือจะเริ่มแข็งแรง และเขียนเป็นประโยคได้แบบที่เห็นนี้
สะกดคำผิด และใช้บางคำไม่ถูกต้อง เป็นปัญหาที่พบตั้งแต่เด็กเล็ก จนถึงระดับมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งเพราะต่างพึ่งพาเทคโนโลยีจนเคยชิน เช่น การตรวจแก้คำผิดอัตโนมัติโดยไม่จดจำ หรือแม้แต่ความเร่งรีบในการพิมพ์จนเกิดศัพท์ใหม่ในโลกออนไลน์ ขณะที่การใช้แท็บเล็ต โดยละเลยการฝึกเขียนบนกระดาษ ทำให้เด็กไม่ได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือ
ด.ช.ปวรุตม์ ปิยะชน นักเรียนชั้น ป.1 ร.ร.สาธิต มศว กล่าวว่า ชอบเขียนด้วยลายมือตัวเองมากกว่า เขียนในคอมมันลบยาก ถ้าผิดแล้วก็ปรู๊ดไปเลย แบบนี้มันใช้ยางลบลบได้
การเขียนด้วยมือ ยังช่วยสร้างการจดจำ คือบทสรุปเบื้องต้นจากการทดลองของ คาริน เจมส์ อาจารย์ด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย อินเดียน่า สหรัฐอเมริกา โดยให้เด็กครึ่งหนึ่งท่องจำตัวอักษรจากสิ่งที่เห็น ส่วนอีกครึ่งใช้การเขียน พบว่าคลื่นสมองของเด็กกลุ่มหลัง นั้นมีพัฒนาการที่ดีกว่า แสดงให้เห็นว่าการเขียนมีความหมายไม่น้อยต่อพัฒนาการของเด็ก