จากกรณีที่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้ออกมาให้ข้อมูลว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสมอง โดยจัดเป็นระดับ”มีความเป็นไปได้ที่จะก่อโรคมะเร็ง”นั้น นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลกออกมาเตือนชาวโลกเรื่องนี้ โดยข้อสรุปนี้เป็นผลจากการประชุมคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์จาก 14 ประเทศ ที่ประเทศฝรั่งเศส จากข้อมูลการศึกษาที่มีอยู่อย่างจำกัดเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์ไร้สายกับการเกิดมะเร็งสมองประเภท glioma และ acoustic neuroma น่าเชื่อได้ว่ามีความเกี่ยวพันกับการเกิดโรคมะเร็งดังกล่าว ส่วนมะเร็งประเภทอื่นๆ ไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากข้อมูลยังไม่เพียงพอ โดยจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์ไร้สายทั่วโลกมีประมาณ 5 พันล้านคน
ผอ.สบท.กล่าวต่อไปว่า สบท.ได้เคยทบทวนผลงานวิจัยทางการแพทย์ระดับนานาชาติระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามี 5ใน 6 การศึกษาที่ติดตามประวัติการใช้โทรศัพท์นานกว่า 10 ปี และได้ข้อสรุปเช่นเดียวกับองค์การอนามัยโลกว่า ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์ไร้สายเป็นเวลานานมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งสมองเพิ่มขึ้นกว่าคนปกติ
“แม้แต่ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งของยุโรป ซึ่งได้รับทุนการศึกษาจากบริษัทมือถือเองยังได้ระบุข้อยกเว้นของผลการศึกษาไว้ว่า กลุ่มคนใช้งานที่มีระยะเวลาใช้งานสะสมมากกว่า 1,640 ชั่วโมงจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น ยิ่งถ้างานสะสม 1,640 ชั่วโมงภายในระยะเวลา 5 ปี หรือเฉลี่ยใช้งานวันละ 1 ชั่วโมงจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 4.8 เท่า จึงบ่งชี้ว่า ใครที่ยิ่งใช้มาก ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้นคนที่เสี่ยงคือคนที่ใช้งานสะสมนานกว่า 2,000 ชั่วโมงตลอดชีวิต หรือคนที่ใช้งานนานเป็น 10 ปี เป็นเฮฟวี่ ยูสเซอร์ ถ้าเป็นพฤติกรรมของสังคมปัจจุบันกลุ่มที่จะใช้มากคือ กลุ่มวัยรุ่น ซึ่งใช้งานวันละหลายชั่วโมง จึงน่าเป็นห่วง เพราะเด็กนั้นมีกะโหลกศีรษะบางกว่าผู้ใหญ่มีโอกาสที่คลื่นแม่เหล็กจะส่งผลกระทบได้มากกว่า”นายประวิทย์กล่าว
นายประวิทย์กล่าวอีกว่า ดังนั้นเด็กและเยาวชนซึ่งพัฒนาการทางร่างกายยังไม่สมบูรณ์จึงไม่ควรใช้ โดยเฉพาะเด็กเล็กในบางประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อป้องกันอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่อสมอง ส่วนผู้ใหญ่ควรใช้เท่าที่จำเป็น สำหรับการใช้อุปกรณ์เสริมเช่น หูฟ้งแบบมีสายสามารถลดความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้เล็กน้อย
“การหลีกเลี่ยงคลื่นโทรศัพท์โดยใช้อุปกรณ์เสริมประเภทบลูทูธ ยังมีข้อควรระวัง เพราะจะทำให้ได้รับทั้งคลื่นโทรศัพท์และคลื่นจากวิทยุหูฟัง จึงควรใช้เท่าที่จำเป็นและไม่ควรแนบหูตลอดเวลา สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่กังวลในเรื่องนี้ก็แนะนำว่า นอกจากโทรให้น้อยลงแล้ว เวลาใช้ควรให้โทรศัพท์ห่างจากศีรษะเพราะความแรงคลื่นจะลดลงอย่างมากถ้าระยะทางเพิ่มขึ้น ดังนั้นโทรศัพท์มือถือยี่ห้อดังๆ ไม่ว่าจะ แบลคเบอรี่ มอเตอโรล่า หรือ ไอโฟน จะแนะนำให้โทรศัพท์ห่างจากศีรษะหนึ่งนิ้ว หรืออาจเลี่ยงไปใช้วิธีเปิดลำโพง หรือ speaker phone แทน คือใช้ให้น้อยและใช้ให้ห่างก็จะปลอดภัยขึ้น”นายประวิทย์กล่าว