สปสช. ตั้งศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ 400 แห่งทั่วประเทศ คลี่คลายความกังวลให้ประชาชน
เผยการคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ลดข้อพิพาทรุนแรงได้เนื่องจากข้อร้องเรียนส่วนใหญ่มาจากความเข้าใจไม่ตรงกัน เผยปี 56 เตรียมเพิ่มจำนวนศูนย์บริการให้ครอบคลุมรพ.ชุมชน และพัฒนาประสิทธิภาพให้ข้อมูลการบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพ
นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สปสช. มีภารกิจในการดำเนินงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ และสนับสนุนให้จัดตั้งศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพขึ้นในหน่วยบริการ ตั้งแต่ปี 2549 โดยให้ข้อมูล และให้คำแนะนำ รวมทั้งช่วยเหลือและคลี่คลายปัญหาความกังวลใจให้แก่ประชาชน เพื่อทำความเข้าใจให้ถูกส่งผลให้ ลดปัญหาเรื่องร้องเรียนลงได้ ปัจจุบันมีศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ ในหน่วยบริการทั่วประเทศ 363 แห่ง แบ่งเป็นรพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป 94 แห่ง และรพ.ชุมชน 269 แห่ง
เลขาธิการสปสช.กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2556 กำหนดเป้าหมายว่าจะขยายศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการในโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30-60 เตียง จำนวน 285 แห่ง และในพื้นที่กรุงเทพมหานครจำนวน 2 แห่ง และจะเน้นพัฒนาศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพฯที่ได้จัดตั้งมาแล้วให้มีประสิทธิภาพ และขยายบริการให้ข้อมูล คำปรึกษา หรือประสานบริการ กรณีนโยบายใหม่ของรัฐบาล เช่น เจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน การจัดสวัสดิการการรักษาพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ทั้งนี้ การดำเนินงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้าใจระหว่างแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วย สาเหตุข้อร้องเรียนส่วนใหญ่มาจากการสื่อสารและความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน รวมถึงการบริหารจัดการที่ยังมีข้อจำกัด และการปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์บางเรื่อง ซึ่งการจะแก้ปัญหาให้พึงพอใจทั้งสองฝ่ายเป็นความยากลำบาก ผู้ปฏิบัติงานรับเรื่องร้องเรียนต้องมีความอดทนสูง การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนนั้น เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มคุณภาพบริการสาธารณสุข เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนทุกคน
“ผลการดำเนินงานศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในรพ. ช่วยทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการและเชื่อมั่นในกระบวนการคุ้มครองสิทธิมากขึ้นนั้น ดีที่รพ.ร่วมมือกันพัฒนาให้สามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับสิทธิและเข้าถึงบริการ รวมทั้งทำให้เกิดความร่วมมือประสานงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเพื่อสนองตอบต่อความพึงพอใจของประชาชนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้หน่วยบริการยังได้รับทราบข้อมูลปัญหาและนำไปวางแผนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ ” นพ.วินัยกล่าว