ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คปก.เสนอรื้อกฎหมายยาเสพติดทั้งระบบ ภาคปชช.ห่วงปะผุปัญหา ให้อำนาจตำรวจมากเกินไป

อาชญากรรม
30 ม.ค. 56
10:41
189
Logo Thai PBS
คปก.เสนอรื้อกฎหมายยาเสพติดทั้งระบบ ภาคปชช.ห่วงปะผุปัญหา ให้อำนาจตำรวจมากเกินไป

สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย – คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรมในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)ประชุมหารือเกี่ยวกับ ร่างพ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... โดยมีนายสมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมายเป็นประธานการประชุม

 นายกอบกูล  จันทวโร  ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เปิดเผยว่า หากไม่ทบทวนทั้งระบบแทนที่จะดีก็จะมีปัญหาอย่างอื่นตามมาอีกหลายเรื่อง ซึ่งหากพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดพบว่า เปิดช่องให้การสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดหากตรวจพบสารเสพติดในร่างกาย โดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา ประเด็นนี้อาจจะมีปัญหาตามมาว่าการพิสูจน์เบื้องต้นยังมีกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับเกี่ยวกับการตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย เบื้องต้นน่าจะเกิดความสับสนพอสมควร เนื่องจากอำนาจของเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์ในแต่ฉบับต่างมีระเบียบที่แตกต่างกัน เช่น ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข, ระเบียบปปส. ดังนั้นการตรวจพิสูจน์ของเจ้าหน้าที่จะมีความแตกต่างกันอยู่

 
นายกอบกูล กล่าวว่า มีข้อสังเกตว่าการตรวจพิสูจน์เบื้องต้นไม่อาจจะทราบได้ว่าเป็นการเสพยาเสพติดหรือไม่ก่อนเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ขณะที่การสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในทางปฏิบัตินั้นการเกิดลักษณะกึ่งบังคับบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ซึ่งไม่น่าจะใช้กับผู้เสพยาเสพติดซึ่งเป็นผู้ป่วยและควรจะใช้วิธีการบำบัดอย่างถูกวิธีด้วยนอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกว่า ในพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้มีการคัดกรองผู้เสพยาเสพติดได้อย่างแท้จริง อีกทั้งไม่มีหลักเกณฑ์ในการคัดกรองผู้เสพยาเสพติด ขณะเดียวกันผู้เสพที่จะต้องเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูนั้นในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ระบุไว้แต่อย่างใด เช่นเดียวกับมาตรการติดตามช่วยเหลือก็ไม่ได้ระบุไว้
 
นายชาติชาย  สุวิกรม  อดีตที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ปปส.) กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดอยู่ที่ข้อเท็จจริงและปรากฏการณ์ทางสังคม ซึ่งอาจจะต้องจัดระบบการบำบัดรักษาที่ดีและใช้ได้ผลจริง เพราะข้อเท็จจริงที่พบคือ ยิ่งมีการปราบปรามมากขึ้นจะยิ่งส่งผลให้ยาเสพติดให้โทษมีราคาเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการบำบัดรักษาและการปราบปรามควรมีความสอดคล้องกัน เป็นข้อสังเกตที่น่าจะนำมาพิจารณาและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป 
 
นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว ประธานมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า ต้องสังคยานากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งระบบ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักวิชาการ ส่วนตัวไม่ขัดข้องหากจะใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเต็มที่  แต่จะต้องช่วยกันคิดว่าระบบควรจะเป็นอย่างไรและควรเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นอกจากนี้เห็นว่าควรมีการพิจารณางบประมาณที่ใช้ในการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด โดยคำนึงถึงผลที่ได้รับจากการดำเนินงานที่ผ่านมาของภาครัฐใช้ได้ผลมากน้อยเพียงใด เพราะเงินภาษีของประชาชนจะใช้โดยไม่สมเหตุสมผลไม่ได้ 
 
นายวีระพันธ์ งามมี ผู้จัดการภาคสนาม มูลนิธิพีเอสไอ กล่าวว่า ประเด็นที่เป็นข้อกังวลเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ฟื้นฟูนี้ มี 3 ประเด็นคือ 1.การให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจมากเกินไป 2.การนำคำว่า ความพึงพอใจ มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินผู้ที่ได้รับการบำบัดตามร่างพ.ร.บ.นี้แล้ว ก็จะมีปัญหาว่า เป็นความพึงพอใจของใคร มีหลักเกณฑ์และขอบเขตในการพิจารณาอย่างไร 3. การจัดทำบันทึกข้อตกลงกลายเป็นเจ้าหน้าที่อาจเข้าใจว่า หากไม่ทำจะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ทั้งที่บันทึกข้อตกลงนี้ควรที่จะให้แพทย์เป็นผู้ประเมินและรับรอง ไม่ใช่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ
 
นายวีระพันธ์ กล่าวว่า วาทะกรรมของคำว่า ผู้ติดยาคือผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ดีแต่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อน  ซึ่งทัศนคติของคนในสังคมมักมองว่า ผู้ใดก็ตามที่มีสารเสพติดในร่างกายจะเป็นผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงยาเสพติด จึงต้องได้รับการบำบัด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วยังมีผู้ที่มีสารเสพติในร่างกายแต่ไม่ได้เป็นผู้ที่ต้องพึ่งยาเสพติดเสมอไป ในทางการแพทย์สามารถแบ่งแยกได้อย่างชัดเจนระหว่างผู้ใช้ยา(drug use) และผู้ติดยาหรืออยู่ในภาวะพึ่งพิงยาเสพติด(drug dependence) และบุคคลสองกลุ่มนี้ก็มีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน
 
 “การอยู่ในภาวะพึ่งพิงยาเสพติดหรือที่เข้าใจกันทั่วไปว่า การติดยา นั้นเกิดจากยาเสพติดเหล่านี้จะกระตุ้นวงจรความพึงพอใจ โดยการเข้าไปเพิ่มการทำงานของสารโดปามีน เมื่อสมองเกิดความพึงพอใจจึงเสพซ้ำอีก  ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การเสพติด เป็นโรคของสมองติดยาและการติดใจจึงจะถูกต้อง นอกจากนี้ ต้องมีความเข้าว่า ภาวะพึ่งพิงยาเสพติด เป็นภาวะเรื้อรัง ในทางการแพทย์จึงทำได้เพียง การทุเลาการเจ็บป่วย เพิ่มคุณภาพชีวิต และการป้องกันไม่ให้มีอาการเพิ่มมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสริม เช่น ระดับการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจและสภาวะแวดล้อม ทำให้ผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิงยาซึ่งเข้ารับการบำบัดแล้วกลับไปพึ่งพิงยาอีกครั้งถึงร้อยละ11” นายวีระพันธ์ กล่าว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง