นายณัฐวุฒิ ยังระบุว่า นายกฯได้รับฟังและสอบถามถึงปฏิกิริยาของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งนายณัฐวุฒิได้เสนอว่า มีข้อเสนอจากลุ่มที่เห็นด้วยและนำเสนอแนวทางการนิรโทษกรรมในหลายวิธี แต่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็ยังไม่ปรากฎชัดเจนและรุนแรงมากนักจะมีเพียงก็คือ พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ตั้งข้อสังเกตถึงความเกี่ยวพันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ
รมช.พาณิชย์ ยังเผยว่า นายกฯได้สั่งให้รวบรวมทุกข้อเสนอในการนิรโทษกรรมจากทุกฝ่าย อาทิ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เสนอโดยนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดยนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้ และข้อกฎหมาย และจากนั้นจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวเข้าหารืออีกครั้ง
"การเสนอ พ.ร.ก.การนิรโทษกรรมก็เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ถูกกุมขังและมีคดีความที่เกี่ยวข้องกับเหตุทางการเมืองหลังรัฐประหารปี 49 เป็นต้นมา โดยจะช่วยลดแรงกดดันและยกเว้นแกนนำทุกฝ่าย รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งหากกระบวนการเดินหน้าก็จะช่วยสร้างความปรองดองและนำไปสู่การเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งทางการเมืองได้" นายณัฐวุฒิ กล่าว
นายณัฐวุฒิ ยังระบุว่า นายกฯถือว่าแนวทางการสร้างความปรองดองถือว่าเป็นนโยบายที่สำคัญที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ ซึ่งมือช่องทางหรือเครื่องมือใดสามารถสร้างความปรองดองได้ก็พร้อมที่จะดำเนินการ แต่ในกรณีนี้ยังต้องการให้ศึกษาแนวทางต่าง ๆ ให้ชัดเจนเนื่องจากยังมีความคิดเห็นหลากหลายทั้งในฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่คัดค้าน
รมช.พาณิชย์ กล่าวเสริมว่า แกนนำนปช.ได้มอบหมายให้ตนดำเนินการนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อนายกฯ และในขณะนี้ยังมีช่องทางที่สามารถพูดคุยหารือได้จึงไม่จำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล และหากข้อเสนอของนปช.ถูกปฏิเสธแต่หากยังมีการเดินหน้านิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ไดรับผลกระทบในการถูกุมขังหรือต้องคดีความก็ยินดี ไม่ว่าจะเป็นแนวทางอื่น ๆทั้ง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตาม พร้อมยืนยันว่าแนวทางดังกล่าวมีรายละเอียดที่แตกต่างกับ พ.ร.บ.ปรองดองฯที่ค้างอยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้