ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

15,000 บาทเพิ่มเหลื่อมล้ำ อาชีพข้าราชการดีกว่าลูกจ้างเอกชน

1 ก.พ. 56
08:35
222
Logo Thai PBS
15,000 บาทเพิ่มเหลื่อมล้ำ อาชีพข้าราชการดีกว่าลูกจ้างเอกชน

โดย ทีมศึกษาวิจัย ทีดีอาร์ไอ

 ผลวิจัยทีดีอาร์ไอระบุ ข้าราชการไม่ได้มีรายได้ต่ำกว่าลูกจ้างเอกชนเสมอไปตามที่เข้าใจกัน แต่อาชีพข้าราชการมีรายได้ตลอดชีวิตเฉลี่ยดีกว่าลูกจ้างภาคเอกชนในทุกระดับการศึกษา โดยครึ่งหนึ่งของรายได้คือมูลค่าสวัสดิการที่ได้รับขณะที่ลูกจ้างเอกชนมีความผันผวนของรายได้และสวัสดิการ  การปรับเพิ่มตามนโยบาย ป.ตรี 15000 บาท จะยิ่งเพิ่มช่องว่างของรายได้ลูกจ้างภาคราชการกับภาคเอกชนในระดับปฏิบัติการ  แต่ข้าราชการในตำแหน่งที่ต้องใช้วิชาชีพสูงจะยังขาดสิ่งจูงใจที่ดีพอเมื่อเทียบกับภาคเอกชน  

 
การปรับฐานเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาทต่อเดือน น่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงดุลภาพในตลาดแรงงาน ภาระเงินงบประมาณของรัฐ และระดับการบริโภคของประชาชน โครงการวิจัยการศึกษาผลกระทบของการดำเนินนโยบายรายได้ค่าแรงไม่น้อยกว่า 300บาทต่อวัน และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือนที่มีผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยภายใต้การอุดหนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)การศึกษาในส่วนนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือนในภาคราชการ ทำการศึกษาโดย ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์  ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ และนายชยดล ล้อมทอง นักวิจัยทีดีอาร์ไอ 
 
เน้นพิจารณารายได้ตลอดชีวิตของลูกจ้างราชการเปรียบเทียบลูกจ้างเอกชน  และภาระเงินงบประมาณของรัฐในอนาคต ซึ่งจะมีผลต่อฐานะการคลังและความมั่นคงทางการคลังในระยะยาว   การศึกษารายได้ตลอดชีวิตของข้าราชการและลูกจ้างเอกชน ซึ่งการคำนวณรายได้ตลอดชีวิตของข้าราชการและลูกจ้างเอกชน 
 
โดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรไตรมาส 3 ทั้งหมด 31 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2523 ถึง พ.ศ.2553  เลือกติดตามดูรายได้ตลอดชีวิตข้าราชการและลูกจ้างเอกชนที่อายุ 25-34 ปี ในพ.ศ.2523 และคำนวณรายได้เฉลี่ย(รวมโบนัส ค่าล่วงเวลา ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า และอื่น ๆ ) ของคนกลุ่มนี้ จำแนกตามระดับการศึกษา 3 ระดับ คือ ต่ำกว่าปริญญาตรี ปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี และจำแนกตามการอยู่อาศัยคือ นอกเขตและในเขตกรุงเทพฯ จากนั้นได้ติดตามลูกจ้างและข้าราชการกลุ่มนี้ทุกปี และคำนวณค่าเฉลี่ยของรายได้ทุกปี จนกระทั่งคนกลุ่มนี้อายุ 55-64 ปีในปี พ.ศ.2553
 
ผลการศึกษาพบว่า การเป็นข้าราชการและอยู่นอกเขตกรุงเทพฯจะมีรายได้ตลอดชีวิตค่อนข้างดีกว่าการเป็นลูกจ้างเอกชน โดยเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และผู้มีการศึกษาระดับปริญญาตรี  การเป็นลูกจ้างเอกชนจะมีรายได้ที่ผันผวน(เป็นความเสี่ยง)แม้ดูเหมือนว่าผู้ที่จบการศึกษาสูงกว่า ป.ตรีจะมีรายได้ดีในบางช่วงก็ตาม โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ของลูกจ้างเอกชนจะตกแรงมาก ในขณะที่รายได้ของข้าราชการจะไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับข้าราชการที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯจะมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าลูกจ้างเอกชนโดยเฉพาะเมื่อมีการศึกษาตั้งแต่ ป.ตรีขึ้นไป แต่ความผันผวนของรายได้ของข้าราชการก็มักจะต่ำกว่า    ดังนั้น โดยเฉลี่ยแล้วข้าราชการไม่ได้มีรายได้ต่ำกว่าลูกจ้างเอกชนเสมอไปตามที่เข้าใจกัน แต่จะมีข้าราชการที่มีการศึกษาสูงซึ่งน่าจะมีโอกาสที่ดีที่จะได้รับค่าตอบแทนที่สูงถ้าได้ทำงานในภาคเอกชน ซึ่งข้าราชการในกลุ่มนี้มีจำนวนไม่มากนัก   
อย่างไรก็ดี การศึกษานี้ไม่สามารถรวมข้อมูลเกี่ยวกับเบี้ยประชุม รายได้จากการสอนพิเศษหรือทำวิจัย หรือเบี้ยอื่นๆ ที่ข้าราชการได้รับ ซึ่งเงินรายได้จำนวนนี้อาจจะมีจำนวนไม่น้อย
นอกจากนี้มูลค่าของสวัสดิการที่ข้าราชการได้รับมีประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่ารายได้ตลอดชีวิต ในขณะที่สวัสดิการสำหรับลูกจ้างเอกชนนั้นมีมูลค่าไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบรายได้รวมสวัสดิการที่เป็นมูลค่าปัจจุบัน  
 
ผลการศึกษาพบว่าข้าราชการมีรายได้ตลอดชีวิตสูงกว่าลูกจ้างเอกชนในทุก ๆ ระดับการศึกษา ทั้งในเขตกรุงเทพฯและนอกกรุงเทพฯ แต่เมื่อเปรียบเทียบโดยใช้มูลค่า ณ ราคา ปี พ.ศ.2550 จะเห็นว่าข้าราชการที่มีการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีมักได้รับรายได้ตลอดชีพสูงกว่าลูกจ้างเอกชน
 
ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าการทำงานในเขตกรุงเทพฯจะให้มูลค่าปัจจุบันของรายได้ตลอดชีวิตสูงขึ้นกว่าการทำงานในจังหวัดอื่น ๆ ในทุก ๆ ระดับการศึกษา แต่อย่างไรก็ดี ผู้มีระดับการศึกษาน้อยกว่าปริญญาตรีที่ทำงานให้แก่ภาครัฐก็ยังมีมูลค่าปัจจุบันของรายได้ตลอดชีพสูงกว่าการทำงานให้ภาคเอกชน เพราะมูลค่าของสวัสดิการนั้นสูงกว่ากันมาก รวมทั้งผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรีและทำงานในบริษัทเอกชนจะมีมูลค่าปัจจุบันของรายได้ตลอดชีวิต ณ เวลาที่เริ่มต้นชีวิตทำงานสูงกว่าผู้ที่มีคุณสมบัติเดียวกันแต่ทำงานในภาครัฐ
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง