กระแสคัดค้านสวนสัตว์นำเข้า
การแสดงความสามารถของวาฬเบลูก้า ตามคำสั่งของผู้ฝึกสอน เป็นจุดขายที่ดึงดูดและสร้างความเพลิดเพลินให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมสวนสัตว์ แต่ในมุมมองของนักอนุรักษ์ เบื้องหลังความสุขเพียงไม่กี่นาที ที่ได้จากการชมความชาญฉลาดของวาฬในที่กักขัง คือการทรมานและนำไปสู่ความตายของวาฬในที่สุด
นักอนุรักษ์สัตว์ในประเทศไทยได้รวมตัวกันคัดค้าน การนำเข้าวาฬเพื่อจัดแสดงของสวนสัตว์เอกชนรายหนึ่ง ซึ่งได้ขออนุญาติกับกรมประมงเพื่อนำเข้าวาฬเบลูก้า 6 ตัว จากประเทศรัสเซีย พวกเขาให้เหตุผลว่า การขอนำเข้าวาฬครั้งนี้ เป็นการทารุณกรรมสัตว์ เพราะเป็นวาฬที่ขอจับจากธรรมชาติ ซึ่งในการล่าวาฬแต่ละตัว จะเน้นจับเฉพาะวาฬตัวเมียหรือตัววัยอ่อน เนื่องจากฝึกได้ง่ายกว่า จึงมีวาฬที่ไม่ใช่เป้าหมายจำนวนมากต้องบาดเจ็บและตาย
การศึกษายังพบว่า วาฬที่อาศัยอยู่ในที่กักขังจะมีอายุสั้นเนื่องจากความเครียด และเห็นได้อย่างชัดเจนจากการที่สวนสัตว์แห่งนี้ต้องขอนำเข้าวาฬตัวใหม่มาทดแทนวาฬที่ตายไป
นอกจากนี้ "เบลูก้า" ยังเป็นวาฬที่มีถิ่นอาศัยในแถบหนาวเย็นของขั้วโลกเหนือ ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการกักขังในสภาพภูมิอากาศของไทยอย่างสิ้นเชิง และยังจัดเป็นวาฬขนาดใหญ่ที่ต้องการอาณาเขตมากในการหากิน
รายชื่อกว่า 12,000 รายชื่อ ที่กลุ่มอนุรักษ์ได้จากการรณรงค์คัดค้านผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ถูกส่งให้กรมประมง ซึ่งทางกรมได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบสวนสัตว์แห่งนี้ เบื้องต้นพบว่า สถานที่กักขังและจัดแสดง มีหลายจุดบกพร่องที่ต้องปรับปรุง และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการของกรมประมง ส่วนการขอนำเข้าไม่ขัดต่อกฎหมาย เพราะวาฬเบลูก้า อยู่ในบัญชี 2 ของอนุสัญญาไซเตส ซึ่งสามารถส่งออก -นำเข้า หากได้รับใบอณุญาติถูกต้องจากหน่วยงานของประเทศผู้ซื้อ-ขายวาฬ
เสียงคัดค้านของภาคประชาชนในกรณีคล้ายกันนี้เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว การขอนำเข้าและจัดแสดงหมีขาวขั้วโลกของสวนสัตว์เชียงใหม่ ซึ่งองค์การสวนสัตว์รับฟังเหตุผลถึงความไม่เหมาะสมแล้ว จึงยกเลิกโครงการนี้ไป