ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คลังเตรียมเพิ่มทุนหนุน "เอสเอ็มอีแบงก์-ธ.อิสลาม" หลังพบหนี้เสียสะสมสูง

เศรษฐกิจ
5 ก.พ. 56
00:36
121
Logo Thai PBS
คลังเตรียมเพิ่มทุนหนุน "เอสเอ็มอีแบงก์-ธ.อิสลาม" หลังพบหนี้เสียสะสมสูง

กระทรวงการคลัง เตรียมเพิ่มทุนเอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย รวมกัน 1,000 ล้านบาท หลังประสบปัญหาหนี้เสียสะสมในระบบสูง พร้อมรับพิจารณาข้อเสนอควบรวมเอสเอ็มอีแบงก์ กับธนาคารออมสิน หากมีความจำเป็น ขณะที่ ผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ย้ำว่า ฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง

แม้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส. รับภาระดำเนินโครงการบัตรเครดิตชาวนา และรับจำนำข้าว เฉพาะฤดูกาลผลิต ปี 2554/2555 ใช้เงินกว่า 90,000 ล้านบาท และกระทรวงพาณิชย์ จ่ายเงินคืนมาแล้ว 40,000 ล้านบาท

แต่นายบุญไทย แก้วขันตี รองกรรมการผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิตลอดปีบัญชี 2555 ประมาณ 6,500 ล้านบาท จากสินทรัพย์ 1.1 ล้านล้านบาท และหนี้สิน 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหนี้เสีย ร้อยละ 5.75 ของสินทรัพย์ทั้งหมด

แต่เมื่อเทียบกับเงินกองทุนสำรองความเสี่ยง คิดเป็นร้อยละ 9.86 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดร้อยละ 8.50 จึงไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของธนาคาร

ขณะที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อยู่ระหว่างพิจารณาแผนปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารเพื่อการพัฒาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ก่อนตัดสินใจพิจารณาควบรวมกับธนาคารออมสิน ตามข้อเสนอของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.
 
หลังพบเอสเอ็มอีแบงก์ มีปัญหาความโปร่งใสในการปล่อยสินเชื่อ และมีหนี้เสียจากนโยบายรัฐ มากกว่า 40,000 ล้านบาท จากหนี้ทั้งหมด 97,000 ล้านบาท

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า หนี้เสียของเอ็มเอ็มอีแบงก์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ ยังไม่สร้างความเสียต่อระบบ แต่เบื้องต้น เตรียมพิจารณาเสนอขอเพิ่มทุนให้กับธนาคารทั้งสองแห่ง รวมกัน 1,000 ล้านบาท เพื่อประคองสถานการณ์ แต่ระยะยาว ยังต้องติดตามแผนการฟื้นฟูต่อไป

สอดคล้องข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย เคยทำรายงานถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเตือนปัญหาหนี้เสียในธนาคารเฉพาะกิจของรัฐอย่างน้อย 3-4 แห่ง แม้ระดับความเสี่ยงหนี้เสียต่อสินทรัพย์ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนด แต่สินเชื่อรายย่อย ที่มีความเสี่ยงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง