<"">
แต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำยังต้องเร่งพัฒนา
แนวโน้มของธุรกิจขนส่งทางเรือในปี 2556 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการขนส่งทางเรือน่าจะเติบโตดีขึ้น จากปัจจัยส่งเสริม คือ การฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทย อันเนื่องมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และหลายประเทศยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง
สินค้าส่งออกทางเรือของไทยที่สำคัญมีแนวโน้มดีขึ้น จากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่คาดว่าหลายอุตสาหกรรมจะกลับมาผลิตได้อย่างเต็มศักยภาพในปีนี้ อีกทั้งยังมีปัจจัยเฉพาะของภาคอุตสาหกรรม อาทิ การปรับแผนธุรกิจของผู้ประกอบการผลิตยานยนต์ ที่เน้นการผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้นหลังจากสิ้นสุดนโยบายรถคันแรก
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2556 นี้การส่งออกรถยนต์ของไทยน่าจะมีประมาณ 1,230,000 ถึง 1,290,000 คัน หรือเติบโตร้อยละ 20-26 ในด้านสินค้าเกษตร ทั้งปริมาณและราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการขนส่งสินค้าทางเรือในปี 2556 อาจจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8-10 เป็น 129,600-133,000 ล้านบาท จาก 121,000 ล้านบาทในปี 2555 แต่หากวัดจากปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือ ทั้งนำเข้าและส่งออก คาดว่าจะมีปริมาณสินค้าส่งออกและนำเข้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพประมาณ 87-89 ล้านตันในปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4-8 จากประมาณ 84 ล้านตันในปี 2555 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8)
อย่างไรก็ตามการขนส่งทางเรือของไทยแม้ว่าจะเริ่มมีปัจจัยหนุน แต่ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากหลายด้านเช่นกัน อาทิ ปัญหาด้านแรงงาน ซึ่งในปัจจุบัน นอกจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ต้องเผชิญกับภาระต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเมื่อต้นปี 2556 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ก็อาจส่งผลต่อการส่งออกของไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่ต่อมายังการส่งออกสินค้าทางเรือด้วยเช่นกัน