“เมืองรีสอร์ท..พิพิธภัณฑ์มีชีวิต..แม่ฮ่องสอน
ใครๆก็อยากจะพิชิต“แม่ฮ่องสอน”ทำให้แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางรับอากาศหนาวบนดอยสูงขอเมืองเล็กๆอย่างแม่ฮ่องสอนทุกปี
ท่ามกลางธรรมชาติและเมฆหมอกคำถามคือ แม่ฮ่องสอนจะเป็นเมืองท่องเที่ยวแบบไหนดีกว่ากัน ระหว่างท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กับ เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมเหมือน “ปาย” ปริมาณขยะ น้ำเสียที่เพิ่มขึ้นกับการท่องเที่ยว ภูมิทัศน์ของเมืองที่อาจถูกคุกคามโดยสิ่งปลูกสร้างความเจริญใหม่ๆอย่างห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่เริ่มก้าวย่างจะเข้ามา
มีส่วนร่วมพัฒนาเมืองยั่งยืน
ภายใต้ความสับสนท่ามกลางการพัฒนาที่เพิ่มขึ้น กรมส่งเสริมคุณภาพส่งแวดล้อม ได้ริเริ่มนำแนวคิด "การมีส่วนร่วมของประชาชน" และ "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ในการพัฒนาท้องถิ่น มาทำงานร่วมกับเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เพื่อกระตุ้นแนวคิด และ สร้างกลไกการขับเคลื่อนให้ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน และร่วมกันทำงาน เพื่อการพัฒนาชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน จนทำให้แม่ฮ่องสอนค้นพบเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตัวเอง
การยึดถือการพัฒนาเมืองเชิงอนุรักษ์จะสร้างความยั่งยืน ทำให้เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนและชาวบ้านต่างเห็นตรงกันว่า เมืองแม่ฮ่องสอน ควรจะมีวิถีเมือง ในลักษณะ “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต”เพื่อตอกย้ำว่าแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองที่สามารถดำรงเอกลักษณ์ วิถีชีวิตจริงดั้งเดิม วัฒนธรรมและประเพณีของชาวไทยใหญ่ซึ่งปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน จนถึงปัจจุบัน โดยสามารถสัมผัสและเรียนรู้ได้ทันทีเมื่อเดินทางมาถึงแม่ฮ่องสอน
ต้นทุนทางวัฒนธรรมคือข้อได้เปรียบที่ใช้เป็นช่องทางในการกระตุ้นให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่นชุมชนให้น่าอยู่มากขึ้น โดยผ่าน "สภาน้ำเมี่ยง"คือ การดื่มน้ำเมี่ยง หรือ การดื่มน้ำชา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไทยใหญ่ เพื่อพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยน สานสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างชาวบ้าน เป็นกิจกรรมอันสำคัญที่ทำหน้าที่เสมือน “สภาประชาชนชาวแม่ฮ่องสอน” เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะแนวคิดต่างๆไปสู่หน่วยงานราชการ เทศบาล โดยสถานที่ใช้จัดการพบปะพูดคุยกันนั้นจะใช้“โหย่งกาด” หรือ ตลาดของชาวบ้านและมีรูปแบบการพบปะพูดคุยที่ไม่เป็นทางการ ไม่ต้องมีวาระการประชุม ใช้ความรู้สึกจริงๆของชาวบ้านมาคุยกัน
แต่สิ่งที่ได้คือ แนวทางการมีส่วนร่วมอย่างตั้งใจของชาวแม่ฮ่องสอน ทำให้เมืองแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองต้นแบบแห่ง ภูมิคุ้มกันพัฒนาเมือง
นายปกรณ์ จีนาคำ นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอนได้บอกเล่า เรื่องราวของ"การจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองอย่างครบวงจร" ซึ่งชาวบ้านให้ความร่วมมือกับเทศบาลในลักษณะช่วยเหลือพึ่งพากัน เช่น การคัดแยกขยะจากต้นทาง โดยนำขยะอินทรีย์ให้กับเทศบาลเพื่อนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ รวมทั้งใช้ในการปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ โดยแรงงานท้องถิ่นในเรือนเพาะชำของเทศบาลเพื่อตกแต่งประดับ ปรับภูมิทัศน์เมืองรวมทั้งแจกจ่ายกลับคืนให้กับประชาชน
คนเมืองแม่ฮ่องสอน จากการเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจดี เพราะท่องเที่ยวเพียง 4 เดือน แต่ต้องเลี้ยงชีวิตคนต่อไปอีก 8 เดือน ทำให้คนเมืองแม่ฮ่องสอน ก็มีภูมิคุ้มกันในการพัฒนาเมือง โดยให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง หรือ ในระดับครัวเรือน โดยการคัดแยกขยะรีไซเคิล เพื่อเป็น "ของขายได้" นำรายได้สู่ครัวเรือน การคัดแยกขยะอินทรีย์ไว้ให้เทศบาลมาจัดเก็บเพื่อนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ รวมทั้งใช้ในการปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ โดยแรงงานท้องถิ่นในเรือนเพาะชำของเทศบาลเพื่อตกแต่งประดับ ปรับภูมิทัศน์เมืองรวมทั้งแจกจ่ายกลับคืนให้กับประชาชน รวมทั้ง การนัดเวลาทิ้ง เวลาเก็บขยะ กับเทศบาล ซึ่งต้องทำความสะอาดเมืองให้เสร็จก่อนฟ้าสาง การเพิ่มมูลค่าเศษผลไม้จากตลาดสดโดยนำมาทำถ่านผลไม้ดูดกลิ่น ตลอดจนการทำน้ำส้มควันไม้จากเศษกิ่งไม้ตามบ้านเรือนของประชาชน
นอกจากนี้ ในแต่ละครัวเรือนยังมีการติดตั้งถังดักไขมัน โดยที่ต้องจ่ายเงินสมทบให้กับเทศบาลในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อการผลิตถังดักไขมันซึ่งมีต้นแบบมาจากโครงการหลวง และครัวเรือนต้องเรียนรู้ในการบำรุงรักษา ทำความสะอาดถังดักไขมันด้วยตนเอง
เป็นเพียงตัวอย่างความสำเร็จบางส่วนในการทำงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยใช้กระบวนการทางสังคมเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ควบคู่กับ การพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อ "แม่ฮ่องสอนน่าอยู่อย่างยั่งยืน"