สทศ.ให้ฟรี 24 คะแนน กรณีข้อสอบโอเน็ตวิชาวิทยาศาสตร์ ผิดพลาด
รศ.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ยอมรับและกล่าวขอโทษในความผิดพลาด โดยระบุ เบื้องต้นเป็นเหตุสุดวิสัยจากระบบคอมพิวเตอร์พิมพ์ข้อสอบในชุดวิชาดังกล่าว มีปัญหาในการดึงข้อมูล ทำให้มีโจทย์ที่ตัวเลือกซ้ำกัน 16 คู่ คิดเป็น 15 คะแนน และหมายเลขข้อซ้ำข้ออื่นอีก 9 ข้อ คิดเป็น 9 คะแนน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น สทศ.จะยกประโยชน์ให้คะแนนฟรีกับนักเรียนชั้น ม.6 ที่สอบวิชาวิทยาศาสตร์ทั้งหมดกว่า 400,000 คน พร้อมระบุ จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึก เพื่อให้ทราบที่มาของปัญหาและทำการแก้ไข แต่ยืนยันไม่น่าจะเกิดจากความประมาทเลินเล่อเฉพาะตัวบุคคล เพราะกระบวนการจัดทำข้อสอบเป็นไปอย่างรัดกุมอยู่แล้ว
ด้านนายมนัส อ่อนสังข์ หรือ ลาเต้ คอลัมนิสต์แอดมิชชั่น เว็บไซต์ เด็กดี ดอท คอม เปิดเผยว่า สำหรับนักเรียนปีนี้การสอบ โอเน็ต มีความสำคัญมากกว่าทุกปี เพราะทุกโรงเรียนจะนำคะแนนในการสอบแอดมิชชั่นมาคิดเป็นเกรด ถ่วงน้ำหนักคะแนน 20 เปอร์เซ็นต์ ทุกคณะในสายแพทยศาสตร์ใช้คะแนนโอเน็ต ไม่ต่ำกว่า 60 เปอร์เซนต์ ส่วนบางมหาวิทยาลัย อย่าง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก็เริ่มกำหนดเกณฑ์ขั้่นต่ำเกิน 25 เปอร์เซนต์
ขณะที่การโพสต์ของนักเรียนส่วนมากในเว็บไซต์ มีการโพสแสดงความคิดเห็นในวิชาภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และศิลปะ มากที่สุด กรณีที่ข้อสอบผิดพลาด โจทย์ซ้ำ การให้คะแนนฟรีในข้อสอบ และบางข้อที่มีปัญหา บางสนามสอบกรรมการคุมสอบ มีดุลยพินิจที่ต่างกัน เช่น บางคำถามที่ไม่ชัดเจน ให้ฝนคำตอบลงในกระดาษคำตอบ และบางสนามสอบให้ฝนคำตอบลงในกระดาษคำถาม รวมถึงตัวโจทย์ที่มีปัญหากำกวม
ขณะที่รองศาสตราจารย์สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มาหวิทยาลัย เห็นว่า ทุกครั้งที่ออกข้อสอบผิด สทศ.จะแก้ปัญหาด้วยการให้คะแนนฟรี แต่ครั้งนี้ให้คะแนนค่อนข้าวสูง ซึ่งจะดันคะแนนโอเน็ตเด็กปีนี้สูงกว่าทุกปี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเด็กซิลหรือเด้กที่เคยสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาแล้ว และมาสอบใหม่ ทางแก้ปัญหาที่ดีคือ สทศ.ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการจัดสอบใหม่ในชั้นที่มีปัญหา และจะต้องยกเลิกการใช้ผลสอบที่เกิดความผิดพลาด เพราะไม่สามารถวัดผลได้ตามจริง และสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของ สทศ.ว่าเป็นองค์กรที่ไม่มีความน่าเชื่อถือทั้งที่เป็นองค์กรวัดและประเมินผลของประเทศ