คปก.ดันกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ เสนอตั้ง
นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อสังเกตต่อ ร่างพ.ร.บ.กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. ... เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ศึกษาและพิจารณาร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อฯ ทั้ง 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ฉบับคณะรัฐมนตรี 2.ฉบับนางผุสดี ตามไท กับคณะ 3.ฉบับนางสุนทรี ชัยวิรัตนะ กับคณะ และ4.ฉบับนางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 12,046 คน
จากการศึกษา คปก.ได้ตั้งข้อสังเกตแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเห็นว่า วัตถุประสงค์ของกองทุนควรครอบคลุมปัจจัยในการพัฒนาและเผยแพร่สื่อที่มีคุณภาพ ประกอบด้วย การผลิตและการใช้สื่อเพื่อการเรียนรู้ของสังคม การพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อ การส่งเสริมทักษะการเรียนรู้เท่าทันสื่อของเด็ก เยาวชนและประชาชน และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับ
ด้านที่มาของเงินในกองทุนฯ เห็นควรให้จัดสรรเงินแก่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ โดยกำหนดสัดส่วนที่แน่นอนของเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเป็นประจำทุกปี เพื่อความมั่นคงและต่อเนื่องของการดำเนินการตามภารกิจของกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
คปก.ยังเห็นว่าแนวทางการตรากฎหมายโดยการกำหนดให้กิจการขององค์กรตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรนั้นๆ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์และกฎหมายกองทุนเงินทดแทนนั้นจะทำให้องค์กรต่างๆตามกฎหมายนั้นไม่อยู่ในมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองสิทธิ และหน้าที่ตามกฎหมาย จึงไม่ควรบัญญัติไว้ในลักษณะดังกล่าว และอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกด้วย
โดยคปก.เห็นด้วยกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรมการกองทุนฯ ในการออกข้อบังคับว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้คำนึงถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับผู้รับการสนับสนุนและความเท่าเทียมเป็นธรรมของการเข้าถึงการสนับสนุนจากกองทุนของคนด้อยโอกาสในกลุ่มต่างๆ
กรณีรองประธานกรรมการกองทุนฯ คปก.พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า คณะกรรมการกองทุนฯจะเป็นองค์กรที่กำหนดนโยบายหลักเกี่ยวกับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นอกจากการมีองค์ประกอบให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นรองประธาน คปก.เห็นด้วยกับการเสนอให้มีรองประธานอีกตำแหน่งหนึ่งที่มาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกองทุนฯ
สำหรับการกำหนดให้มีกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ชัดเจน คปก.เห็นควรให้มีสมัชชาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ และสภาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (มาตรา 33 ถึง มาตรา 39)เพื่อเป็นกลไกเสนอนโยบายในการจัดทำข้อเสนอและนโยบาย รวมทั้งทำหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับงานสื่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่ให้คนทั่วไปตรวจสอบการบริหารงานของกองทุน การมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเสนอแนะต่อทิศทางการบริหารจัดการและการดำเนินงานของกองทุน
ส่วนรูปแบบการทำงานของสมัชชาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ฯ และสภาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ไม่ควรมีความซับซ้อนและควรให้คณะกรรมการกองทุนฯ นำรายงานและข้อเสนอที่ได้จากการจัดสมัชชาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติประจำปีมาพิจารณาในการให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานประจำปี แผนการเงินและงบประมาณประจำปีของกองทุนด้วย