สุดท้ายปลายทางของ...
โดย เกศินี จุฑาวิจิตร
เมื่อตอนเป็นเด็ก ก็คิดแบบเด็กๆ อยากจะไปให้ถึงปลายฟ้า ตรงที่ขอบฟ้าจรดขอบน้ำหรือตรงที่สายรุ้ง จมหายไปในเวิ้งกว้าง
ด้วยอยากรู้อยากเห็นว่า ที่สุดของที่สุดคืออะไร ครั้นโตมาแม้จะรู้แล้วว่าปลายฟ้าไม่มีจริง ก็ยังอยากเก็บความคิดแบบนั้นไว้เพื่อความคิดฝันและจินตนาการ การให้ก็เหมือนกับสายรุ้ง โดยเฉพาะการให้ที่ไม่ได้หวังผลตอบแทน มันไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดที่แท้จริง
การเดินทางไปเยี่ยมโครงการของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ฉันรู้สึกอิ่มเอมใจทุกครั้ง ที่โรงเรียนบ้านเวียงหวาย ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ก็เช่นกัน ครูตัวเล็กๆ คนหนึ่งทำงานเกินเงินเดือน เกินบทบาทของข้าราชการครู เกินเวลาทำงานแปดชั่วโมงต่อวัน เกินภาระหน้าที่ของการเป็นแม่และเป็นเมีย โดยไม่ได้หวังให้ใครมาเห็นแต่ก็มีคนเห็น รางวัลต่างๆ ที่ได้รับ... ไม่ใช่สุดท้ายปลายทางของการให้
ครูแดง – กรวรรณ พนาวงค์ เป็นคนสันกำแพง แต่มาสอนอยู่ที่โรงเรียนเวียงหวาย อำเภอฝาง กว่า30 ปีที่เธอทำงานร่วมกับชุมชนชาวไตหรือไทใหญ่ ทำให้ครูแดงเห็นชัด ลึกซึ้ง พวกเขาคือคนชายขอบ มิใช่แค่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจด้วยระยะทาง แต่ยังห่างไกลด้วยสิทธิและความเสมอภาคทั้งในด้านการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน การศึกษาและการงานอาชีพ เพียงเพราะการถูกประทับตรา “คนไร้สัญชาติ”
ชาวไทใหญ่โดยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ไม่ว่าจะนับถือโดยการสืบทอดกันมาโดยชาติพันธุ์หรืออย่างไรก็ตาม แต่พวกเขาก็ให้ความสำคัญกับงานบุญ งานประเพณีและการถือศีลครองธรรม ยิ่งกว่าอื่นใด หญิงชายวัยกลางคนนิยมที่จะไปถืออุโบสถศีลในวันพระ เงินนับสิบนับร้อยเพียรบรรจบอธิษฐานไปถึงชาติหน้า เกิดมาครั้งใด อย่าให้เป็นคนไร้สัญชาติอีกเลย ใช่ว่าจะไม่ได้สำนึกในบุญคุณของผืนแผ่นดิน แต่เพราะเห็นความสุขของคนไทยบนผืนแผ่นดินไทย
เดินออกจากโรงเรียนไปที่วัดเพื่อร่วมงานกฐิน ฉันเห็นรั้วด้านนอกของโรงเรียนและของกำแพงวัด จดจารรายชื่อผู้มีส่วนร่วมสร้างด้วยศรัทธา กำแพงวัดอาจไม่ใช่เรื่องแปลก แต่รั้วโรงเรียนต่างหากที่มีความหมาย ชาวบ้านร่วมสร้างเพราะความหวังให้ลูกหลานมีอนาคต พวกเขาพยายามที่จะดูแลตัวเองมิได้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว ...ฉันคิด
ความไม่แบ่งแยกกีดกันของคนไทยที่มีต่อคนไร้สัญชาติ ณ เวียงหวาย จนกลายเป็นความหนึ่งเดียวบนความหลากหลายของชาติพันธุ์ นับเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ ...ก็ความสามัคคีและความสงบเรียบร้อยมิใช่หรือคือสิ่งที่ทุกคนปรารถนา... และถ้าเราบ่มเพาะให้เด็กและเยาวชนเติบโตมาอย่าง “รู้คิด” คือ มีความคิด ความรู้และความเท่าทันในความยั่วยุของสังคมบริโภคและสื่อน้ำเน่า พวกเขาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักตัวเองและอยู่รอดได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
อยู่ที่นั่นสองวัน ฉันเห็นความสุขและการเกื้อกูลแบ่งปันของเด็กๆ หากก็เร็วไปที่จะด่วนสรุป จึงถามครูแดง ตรงไปตรงมา ทำงานนี้มาหลายสิบปี เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในตัวเด็ก ครูและผู้ใหญ่บ้านตอบตรงกัน... เด็กที่นี่ไม่มีเรื่องเหล้า เรื่องบุหรี่ แต่มีความสุข เพราะผู้ใหญ่ได้เห็นคุณค่าของพวกเขาจากผลงานที่ปรากฏ การได้มีส่วนร่วมกับงานของชุมชนและการเป็นหน่อเนื้อของการสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้าน ทำให้เด็กที่เป็น “nobody” กลายเป็น “somebody” แค่นี้ ฉันก็ว่า มันคุ้มเกินคุ้มแล้ว
หากที่มากไปกว่านั้น โรงเรียนบ้างเวียงหวายกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบของการศึกษาที่แสดงจุดเด่นเรื่อง อัตลักษณ์ของนักเรียนและเอกลักษณ์ของโรงเรียน ใครต่อใครมาขอศึกษาดูงานแล้วนำกลับไปทำตามบริบทของพื้นที่ของตน นับเป็นเรื่องที่ดี ฉันและครูแดงเห็นตรงกัน ถ้าได้ “เรียนรู้” ก็ไม่จำเป็นต้อง “เลียนแบบ” ด้วยบริบทและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน และถ้าจะนำไปต่อยอดให้ดีกว่า..มากกว่า ก็นับเป็นเรื่องที่ดีอีกเช่นกัน ความดีไม่ จำเป็นต้องแข่งขัน
ก่อนกลับฉันได้พบและคุยกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลม่อนปิ่น ซึ่งเดินหน้าลงมือต่อยอดงานของครูแดงแล้วอย่างเป็นรูปธรรม โดยหยิบจับขึ้นมาเป็นโครงการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น “อุ๊ยสอนหลาน” รายการนี้มีทุกสามเดือน จัดให้กับนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ที่ อบต.รับผิดชอบ บรรจุไว้เป็นงบประมาณประจำปีเรียบร้อย และอีกโครงการหนึ่งคือกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุในอันที่จะเชื่อมร้อยคนสามวัยเข้าด้วยกัน เห็นความเชื่อมโยงของกลุ่มพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยกับโรงเรียน ภายใต้การสนับสนุนของชุมชนและท้องถิ่นแบบนี้ ก็ชื่นใจเสียจนอยากให้ใครต่อใครมาเห็นบ้าง .. เราจะได้ให้กันต่อๆ ไป อย่างไม่มีที่สิ้นสุด...
ลงจากฝางแล้ว เห็นพอมีเวลา คณะของเราจึงแวะเติมใจให้อิ่มเอมมากขึ้นด้วยการไปบ้านซอยวัดอุโมงค์ นั่งคุยกับศิลปินชื่อดัง “เทพศิริ สุขโสภา” ลองว่าได้คุยกัน นักเล่านิทานคนนี้ก็เกือบทำให้เราตกเครื่องบินทีเดียว