สารคดีต่อต้านทางการยิวโดยรัฐบาลอิสราเอลเข้าชิงรางวัลออสการ์
เพื่อบันทึกรอยยิ้มแรกของ "กิบเบรล" ลูกชายคนเล็ก "เอเม็ด เบอร์แน็ต" หนุ่มใหญ่ชาวปาเลสไตน์จึงตัดสินใจซื้อกล้องตัวแรกเพื่อเก็บความทรงจำไว้ในภาพถ่าย หากแต่ช่วงเวลาเดียวกับที่ลูกชายลืมตาดูโลกในปี 2005 ทางการอิสราเอลได้สร้างรั้วแบ่งเขตแดนในหมู่บ้านบิลาอิน เขตเวสต์แบงก์ ซึ่งครอบครัวของเขาอาศัยอยู่
เบอร์แน็ตจึงตัดสินใจใช้กล้องตัวเดียวกันนี้บันทึกการประท้วงของชาวบ้านที่ถูกอิสราเอลรุกล้ำดินแดน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาสูญเสียกล้องจากกระสุนปืนของอิสราเอลถึง 5 ตัว แต่ฟิล์มซึ่งอยู่ในสภาพดีได้ถูกนำมารวบรวมเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง 5 Broken Cameras หนึ่งใน 5 ผลงานที่เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมในปีนี้ แต่เนื่องจากสารคดีเรื่องนี้กำกับโดย "กาย ดาวิดี" นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติชาวอิสราเอล และได้รับทุนสนับสนุนโดยรัฐบาลอิสราเอล จึงเป็นที่ถกเถียงกันว่าผลงานนี้ควรเป็นของชาติใด
หลายปีที่อิสราเอลสร้างรั้วแบ่งแยกดินแดนในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซ่า โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันมือระเบิดพลีชีพจากฝั่งปาเลสไตน์ ข้อมูลเหล่านี้บอกเล่าโดยเจ้าหน้าที่ด่านตรวจ และถ่ายทอดในสารคดีเรื่อง The Gatekeepers ผลงานอีกเรื่องที่ชิงออสการ์ปีนี้ ซึ่งมีเนื้อหาขัดแย้งกับ 5 Broken Cameras อย่างสิ้นเชิง ที่มองว่าอิสราเอลควรใช้ความเหนือกว่าด้านกำลังทหารยุติความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาหลายปี
แม้จะไม่มีการกำหนดสัญชาติของสารคดีที่ชิงออสการ์ แต่การที่อิสราเอลอ้างการเป็นเจ้าของผลงาน 5 Broken Cameras สร้างความไม่พอใจต่อชาวปาเลสไตน์ ที่มองว่าสารคดีเป็นตัวแทนการต่อสู้อย่างสันติที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในหมู่บ้านบิลาอิน จนได้ที่ดินที่ถูกอิสราเอลยึดครองคืนมา 170 เอเคอร์จาก 500 เอเคอร์ และพร้อมจะใช้ช่องทางกฎหมายทั้งหมดในการเรียกคืนที่ดินอีก 330 เอเคอร์
5 Broken Cameras ยังสร้างความขัดแย้งทางความคิดในอิสราเอล เมื่อ Almagor กลุ่มอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นตัวแทนครอบครัวที่สูญเสียญาติจากการโจมตีของปาเลสไตน์ วิจารณ์ว่าทางการไม่ควรสนับสนุนสารคดีที่มีเนื้อหาขัดแย้งต่อนโยบายของประเทศ ทั้งยังสร้างภาพให้ทหารอิสราเอลโหดร้ายเหมือนปีศาจและมีเนื้อหาเหยียดเชื้อชาติชาวยิว ต่างกับความเห็นของ "แดนนี เดนอน" นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ที่มองว่าการสนับสนุนหนังที่ต่อต้านอิสราเอล เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเปิดกว้างด้านประชาธิปไตย และยืนยันว่ารัฐบาลอิสราเอลจะไม่แทรกแซงเนื้อหาหนังทุกเรื่องที่สร้างในประเทศ
กาย ดาวิดี ผู้กำกับ 5 Broken Cameras ยอมรับว่าสำหรับเขาแล้ว สารคดีทุกเรื่องไม่ควรถูกอ้างกรรมสิทธิ์จากชาติใดๆ ไม่ว่าทุนสร้างจะมาจากที่ไหน ผู้ชมควรจะเรียนรู้วิถีการต่อสู้อย่างสันติของชาวบ้านบิลาอิน มากกว่าจะทำให้สารคดีกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งด้านดินแดนที่ไม่สิ้นสุดในทุกวันนี้