ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ย้ำจุดเสี่ยง “สัญญาเปล่า-สัญญาทาส” หนี้นอกระบบ

22 ก.พ. 56
13:08
1,020
Logo Thai PBS
ย้ำจุดเสี่ยง “สัญญาเปล่า-สัญญาทาส” หนี้นอกระบบ

ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯก.ยุติธรรม เผยประสบการณ์ช่วยผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากปัญหาการกู้หนี้นอกระบบ ระบุมีสารพัดรูปแบบที่ลูกหนี้พึงระวัง โดยเฉพาะการเซ็นชื่อในสัญญาเปล่า เสี่ยงสูงถูกโกงเรียกหนี้เกินจริง

  บางรายนำเงินไปชำระคืนเจ้าหนี้ยังไม่ยอมรับบ่ายเบี่ยง ฟ้องร้องยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันที่มูลค่ามากกว่าเกินกู้ เตือนหากถูกทวงหนี้ด้วยวิธีผิดกฎหมายต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ อย่าปล่อยไว้จนยากจะช่วยเหลือได้ตามกฎหมาย

 
ความเดือดร้อนขาดสภาพคล่องต้องการเงินใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในชีวิตเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ต้องรู้จักการบริหารเงินที่กู้มาด้วยความระมัดระวังมิเช่นนั้นอาจอยู่ในสภาพเช่นเดียวกับหลายกรณีที่เกิดชึ้น เช่น กรณีชาวบ้านในจังหวัดสุโขทัยจำนวนหนึ่งได้รับความเดือดร้อนจากนายทุนเงินกู้นอกระบบ โดยเมื่อปลายปี 2555 ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมโดยศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม (ศนธ.)จัดคณะทำงานลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน ในจังหวัดสุโขทัย 
 
กรณีที่ได้รับความเดือดร้อน จากการกู้เงินนอกระบบ ซึ่งมีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากการกู้หนี้นอกระบบจำนวนมาก โดยเป็นลักษณะการปล่อยเงินทุนของเจ้าหนี้รายใหญ่ เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และมีพฤติการณ์ทวงหนี้โดยแก๊งหมวกกันน็อค
โดยการทำสัญญานั้น เจ้าหนี้จะให้ผู้กู้เซ็นชื่อลงในสัญญาเปล่า โดยเจ้าหนี้จะเป็นฝ่ายเก็บสัญญาไว้เอง 
 
เมื่อลูกหนี้นำเงินมาผ่อนชำระแล้วปรากฏว่าลูกหนี้ขาดการผ่อนชำระ ไม่สามารถผ่อนชำระต่อไป เจ้าหนี้จะล้มกระดานให้ลูกหนี้เริ่มทำการผ่อนชำระใหม่ สร้างความเดือดร้อนให้กับลูกหนี้ ซึ่งการผ่อนชำระนั้นลูกหนี้จะไม่ได้รับเอกสารใดๆเป็นหลักฐานยืนยัน และหากลูกหนี้รายใดไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้จะนำสัญญาที่เซ็นไว้มากรอกตัวเลขที่เกินกว่าจำนวนหนี้จริง และเขียนวันที่ย้อนหลัง 1 ปี เพื่อให้เห็นว่ากู้มานานแล้ว ก่อนนำไปฟ้องศาล สร้างความเดือนร้อนให้ลูกหนี้เป็นอย่างมาก
 
เมื่อเจ้าหน้าที่ของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯพื้นที่ จ.สุโขทัย เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยในเบื้องต้นได้ทำการเจรจาประนีประนอมร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ปรากฏว่า มูลค่าหนี้ที่ทางเจ้าหนี้และลูกหนี้แจ้งนั้นส่วนใหญ่จะไม่ตรงกันซึ่งผลการเจรจาสามารถตกลงกันได้จำนวน  6 ราย, ยกหนี้ให้กันจำนวน 3 ราย บางรายยินดีที่จะไปตกลงกันเอง ขณะที่บางรายที่ไม่สามารถตกลงกันได้ก็อยู่ในขั้นของการพิจารณาของศาล ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทางทนายก็จะช่วยประสานทนายให้ความช่วยเหลือในการดำเนินกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งกรณีอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการทางคดี 
 
อีกกรณีศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้รับเรื่องร้องเรียนและเข้าให้ความช่วยเหลือกรณีของนางสาลิกา และนายขำ คนฉลาด ชาวบ้าน จ.นครพนม เข้าร้องเรียนต่อศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม  ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกู้ยืมเงินนอกระบบจากเจ้าหนี้นอกระบบในพื้นที่จ.นครพนม เนื่องจากต้องการกู้ยืมเงินไปให้บุตรสาวเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ  โดยได้ทำสัญญาเงินกู้พร้อมจดจำนองที่ดินค้ำประกันจำนวน 2 ฉบับ จำนวน 580,000 บาท และ จำนวน 870,000 บาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน 
 
เมื่อลูกหนี้ติดต่อขอชำระหนี้ตามมูลหนี้ที่แท้จริง เจ้าหนี้กลับปฏิเสธ โดยอ้างว่า จะขอให้ชำระหนี้ตามจำนวนที่ระบุในสัญญา แต่เนื่องจากจำนวนเงินที่มากเกินกว่าความเป็นจริง อีกทั้งยังไม่มีเงินพอที่จะชำระหนี้ตามที่เจ้าหนี้เรียกร้อง เจ้าหนี้จึงได้ดำเนินคดีฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดนครพนม  จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเจ้าหน้าที่ศนธ.จึงรับเรื่องและมอบหมายให้ทางคณะทำงานเข้าให้ความช่วยเหลือทางคดี
 
ทั้ง 2 กรณีคือตัวอย่างชัดเจนของความเสี่ยงของการกู้หนี้นอกระบบแล้วได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม จนเกิดคดีความแล้วจึงขอความช่วยเหลือต่อศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่มักเลยขั้นตอนที่จะสามารถให้การช่วยเหลืออย่างสะดวกไปแล้ว เช่น อยู่ในชั้นฟ้องร้องบังคับคดี  แต่หากเมื่อรู้ตัวว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อเข้าให้การช่วยเหลือ ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่สามารถรับเรื่อง/ให้คำปรึกษาแนะนำ เช่นตำรวจ  และสำนักงานยุติธรรมจังหวัด เป็นต้น
 
ด้วยความเดือดร้อนจำเป็นคนที่ไม่มีหลักทรัพย์หรือเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบของภาครัฐ เงินกู้นอกระบบก็ยังคงเป็นที่พึ่งที่เข้าถึงได้ แต่พึงระมัดระวังในการทำสัญญากู้ยืมให้มากๆ  เพราะแม้หน่วยงานภาครัฐจะร่วมกันดำเนินการอย่างไรหากประชาชนไม่ระมัดระวังตัวเองก็ยากที่จะบรรเทาปัญหานี้ได้  โดยการดำเนินงานในส่วนของกระทรวงยุติธรรมที่เป็นกระบวนการปลายทางของปัญหาพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมปัจจุบัน ย้ำนโยบายที่จะทำให้ผู้ได้รับความไม่เป็นธรรมได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็วและเป็นธรรมและให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเพื่อคลี่คลายปัญหาวิกฤติหนี้นอกระบบอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม
 
พ.ต.ท.กฤตธัช อ่วมสนผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม (ศปธ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)และคณะทำงานศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม(ศนธ.ยธ.)กล่าวว่า การเป็นหนี้นอกระบบนั้น เป็นวิถีชีวิตหนึ่งในสังคม เมื่อต้องการใช้เงินแต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นสถาบันการเงิน การกู้นอกระบบจึงเป็นหนทางเดียวสำหรับประชาชนที่เดือดร้อนเรื่องเงิน แต่ในทางกลับกัน การเป็นหนี้นอกระบบส่วนใหญ่กลับสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่กู้หนี้นอกระบบเพิ่มมากขึ้นการลงทำงานในพื้นที่ของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม นอกจากตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความรู้แก่ประชาชนในท้องที่แล้ว ทางศูนย์ฯจะประสานไปยังตำรวจเจ้าของพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดำเนินการในเรื่องของแก๊งหมวกกันน็อคหนี้นอกระบบอื่นๆด้วย รวมทั้งการดูแลความปลอดภัยให้กับชาวบ้านและคณะทำงาน
 
พ.ต.ท.กฤตธัช กล่าวอีกว่าการจัดการกับแก๊งหมวกกันน็อคให้หมดไปนั้น อำนาจหน้าที่การจัดการและสอบสวนเป็นของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เกิดเหตุ เมื่อชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ต้องเข้าพบกับพนักงานสอบสวนในพื้นที่เกิดเหตุหรือหัวหน้าสถานีเพื่อให้การไกล่เกลี่ย ซึ่งถ้าหากทางอำเภอและตำรวจในท้องที่ให้ความร่วมมือ ก็จะสามารถลดปัญหาหนี้นอกระบบได้เยอะ เพราะในความเป็นจริง เมื่อเป็นหนี้ก็ต้องใช้หนี้ แต่ก็ต้องเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งการคิดดอกเบี้ยที่เป็นธรรมทั้ง  2 ฝ่าย
 
ทั้งนี้ ก็อยากเตือนผู้ที่คิดจะไปกู้นอกระบบ ว่าเมื่อไปกู้เงินนอกระบบ โดยที่ไม่ได้ทำสัญญาเงินกู้ หรือการเซ็นชื่อในกระดาษเปล่า ก็เปรียบเสมือนเราตกเป็นทาสเจ้าหนี้เพราะเป็นที่รู้กันว่าหนี้นอกระบบนั้นเก็บดอกเบี้ยโหด บางรายต้องผ่อนให้ทุกวัน ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เมื่อไม่สามารถผ่อนส่งได้ก็โดนขู่ทำร้ายร่างกาย ยึดทรัพย์ และถูกฟ้องร้องขึ้นศาล  หรือบางรายไปเซ็นสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล ซึ่งจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีก ซึ่งก็ขอให้ประชาชนที่กู้หนี้นอกระบบระมัดระวัง
 
กรณีหนี้นอกระบบใน จ.สุโขทัย, จ.นครพนม และในอีกหลายพื้นที่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นแล้วว่า การเป็นหนี้นอกระบบนั้น ส่วนใหญ่มักจะเกิดความเดือดร้อนตามมาภายหลังดังนั้นประชาชนจึงควรระมัดระวังในการกู้ยืมเงิน ไม่เซ็นชื่อในกระดาษเปล่า และต้องมีเอกสารยืนยันทุกครั้งที่ผ่อนชำระ เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบจากเจ้าหนี้ 
 
สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ติดต่อศนธ.ยธ.ชั้น 4 อาคารศูนย์ฝึกอบรมบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.)  10210 โทร.02-575-3344 หรืออีเมล ladvi@moj.go.th. หรือ facebook ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง