เกษตรฯ คว้ารางวัลชนะเลิศจัด “สวนกล้วยไม้” ที่โอกินาวา แนวคิด
กรมวิชาการเกษตร เตรียมแผนโรดโชว์โปรโมทสีสันกล้วยไม้ไทยใน 4 ประเทศ พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงาน APOC ครั้งที่ 12 ปี 2559
นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สวนกล้วยไม้ของไทย คว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง เมื่อสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ร่วมประกวดจัดสวนประเภทสวนขนาดใหญ่ ในงานประชุมกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก(Asia Pacific Orchid Conference หรือ APOC) ครั้งที่ 11 ที่เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “มรดกของธรรมชาติ” (Treasures of Nature) ชนะเลิศสวนขนาดใหญ่ จาก 9 ประเทศ ทั้ง ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และพม่า เข้าร่วม
สวนกล้วยไม้ที่ชนะเลิศการครั้งนี้ สถาบันวิจัยพืชสวนเน้นใช้กล้วยไม้ลูกผสมสกุลแวนด้าและสกุลมอคคาร่า ด้วยสีสันสวยงามจากการประดับตกแต่ง โดยประเทศคู่แข่งส่วนใหญ่เลือกใช้กล้วยไม้สกุลฟาแลนนอบซิส และคัทลียาเป็นหลัก เมื่อสวนของไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นอีกก้าวหนึ่งและเป็นโอกาสดีที่ทำให้กล้วยไม้ไทยเป็นรู้จักแพร่หลายมากขึ้นในต่างประเทศ จะช่วยผลักดันสินค้ากล้วยไม้ไทยสู่ตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น
นายดำรงค์กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Orchid Committee) ได้มีมติเห็นชอบให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APOC ครั้งที่ 12 ในปี 2559 ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างเร่งแต่งตั้งคณะทำงาน คาดว่าจะเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงศักยภาพในฐานะเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกกล้วยไม้เขตร้อนรายใหญ่ของโลก ทั้งยังได้รับความรู้และความก้าวหน้าด้านพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไม้ มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนานาชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุ์กล้วยไม้ และพัฒนากล้วยไม้ในภูมิภาคอย่างยั่งยืน
นายดิเรก ตนพยอม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร เสริมว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรมีแผนที่จะไปร่วมโรดโชว์และจัดแสดงกล้วยไม้ไทยในงานกล้วยไม้โลกที่ประเทศอัฟริกาใต้ งานไม้ดอกไม้ประดับที่เมืองเชลซี ประเทศอังกฤษ งานแสดงกล้วยไม้ที่เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น และงานแสดงไม้ดอกที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยโปรโมทสินค้ากล้วยไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักของนานาชาติกว้างขวางมากขึ้น และส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้ากล้วยไม้ไทยสู่ตลาดโลก
ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรยังมีแผนเร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไม้ เพื่อเป็นแนวทางช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกล้วยไม้สกุลแวนด้า เน้นปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากแบบแขวนโชว์มาเป็นแบบตั้งโชว์หรือปลูกในกระถางได้ พัฒนาการบรรจุ(Packing) เพื่อให้ขนส่งสู่ตลาดง่ายขึ้น จะทำให้กล้วยไม้ลูกผสมแวนด้าของไทยมีโอกาสทางการตลาดสูงขึ้น รวมทั้งมีแผนเร่งปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ดินให้ได้พันธุ์ใหม่ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า