บรรยากาศต้นสัปดาห์ของโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้สมัครต่างหาเสียงกันอย่างแข็งขัน เพื่อขอคะแนนเสียงคน กทม.ให้มากที่สุด โดยมีกำหนดการหาเสียงตั้งแต่เช้าถึงเย็น
ไล่เรียงตั้งแต่ผู้สมัครอิสระ นายสุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครอิสระ แม้ไม่ลงพื้นที่แต่ก็หาเสียงผ่านสื่อออนไลน์ ด้วยการโพสต์เฟสบุ๊คนำเสนอป้ายหาเสียงแบบใหม่เป็น "ถังขยะ" ซึ่งระบุว่าความคิดนี้ปัญหาที่พบเจอ จากสิ่งที่เห็นตอนเดินล้านก้าว พร้อมระบุ ไม่ต้องรอวันที่ 3 มีนาคม เราก็เปลี่ยนแปลงได้ถ้าเราเริ่มกล้าลงมือทำ
ด้านพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้สมัครอิสระ ลงพื้นที่ หาเสียงย่านรามอินทรา โดยพบปะประชาชนแจกแผ่นพับสรุปแนวนโยบายเพื่อขอเสียงสนับสนุน โดยมั่นแนวทางการหาเสียงที่เชื่อว่าคนกรุงเทพส่วนใหญ่รู้จักตนเองเป็นอย่างดี และไม่หวั่นไหวแม้พื้นที่ตรงนี้จะเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยก็ตาม
นายโฆสิต สุวินิจจิต ผู้สมัครอิสระ หาเสียงย่านภาษีเจริญ พร้อมชูนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในฐานะเป็นเมืองพุทธให้เป็นแหล่งธรรมะของโลก พร้อมพัฒนาวงการพระเครื่องให้เป็นที่โด่งดังและรู้จักเพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วย
ส่วนการหาเสียงของผู้สมัคร 2 พรรคใหญ่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้สมัคร จากพรรคประชาธิปัตย์ ช่วงเช้าได้ถือโอกาสตักบาตรทำบุญเนื่องในวันมาฆบูชา ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เพื่อขอเสียงจากประชาชนที่มาร่วมทำบุญ ขณะที่ช่วงบ่าย ขอคะแนนเสียงสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ย่านคลองเตย หลังนำเสนอนโยบายช่วยยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตและอาชีพ ให้กับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พร้อมเสนอแก้ปัญหาวินเถื่อน หรือ กลุ่มมาเฟีย
ขณะที่พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัคร พรรคเพื่อไทย หาเสียงพร้อมน.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวานิชย์ ส.ส.กทม.เขตลาดกระบัง ที่ตลาดกลางเคหะชุมชนร่มเกล้า โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของเป็นอย่างดี พร้อมชูนโยบายแก้ปัญหาปากท้อง สร้างรายได้ลดรายจ่าย แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และตั้งศูนย์ดูแลเด็กเล็กในชุมชน
7 วันก่อนการเลือกตั้ง ยังเป็นช่วงเวลาที่ภาคพลเมืองในกรุงเทพฯส่วนหนึ่ง ให้ความสำคัญด้วยการติดตามและพูดคุย เพื่อส่งสัญญาณไปยังผู้สมัคร ทั้งให้หาเสียงอย่างสร้างสรรค์ ให้คนกรุงเทพฯออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ และให้กกต.อำนวยความสะดวกในการออกไปใช้สิทธิ์ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้คนกรุงเทพฯกว่าร้อยละ 40 ไม่ได้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในทุกๆครั้ง ส่วนหนึ่งมาจากความไม่สะดวก จากปัญหาสุขภาพหรือภาระหน้าที่การงาน เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ไม่ได้เปิดให้ประชาชนใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าได้
ขณะที่ตัวเลขผู้มีปัญหาสุขภาพ ผู้พิการ และผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็มีไม่ต่ำกว่า 900,000 คน และยังมีกลุ่มเยาวชนที่ต้องสอบแกทแพทอีกประมาณ 6,000 คน ที่แม้จะมีการขยายเวลาช่วงพักเพื่อให้ไปใช้สิทธิ์ แต่ก็ไม่มีหลักประกันใดๆว่า เยาวชนเหล่านี้จะเลือกไปใช้สิทธิ์
ดังนั้น เรื่องนี้ถูกตั้งคำถามไปยังกกต.กทม.ด้วย จากการที่กกต.กทม.ตั้งเป้าให้คนกรุงเทพฯออกไปใช้สิทธิ์ 100 เปอร์เซนต์ ในเบื้องต้น ภาคประชาสังคม เสนอให้มีการจัดหน่วยเลือกตั้งที่เข้าถึงได้สะดวก ทั้งสถานที่และเวลา โดยยกตัวอย่างต่างประเทศ ที่มีคูหาพิเศษสำหรับคนชราและผู้พิการ พร้อมเครื่องมืออำนวยความสะดวก
อีกประเด็นที่ภาคพลเมืองกลุ่มนี้ตั้งข้อสังเกตไปถึงกกต. คือการทุ่มเม็ดเงินหาเสียงของผู้สมัคร ที่ปันี้ กำหนดไว้ไม่เกิน 49 ล้านบาท หากเทียบกับค่าตอบแทนในตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ที่ตกเดือนละแสนต้นๆ รวมตลอด 4 ปีของการดำรงตำแหน่งก็ประมาณ 5 ล้านบาท ไม่เป็นเหตุเป็นผลกันเท่าไหร่
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกลไกเฝ้าระวังโกงการเลือกตั้งในกว่า 6,000 คูหา ว่าจะมีหรือไม่ เพราะในอดีต มีองค์กรอย่าง p-net ทำหน้าที่ส่งอาสาสมัครไปสังเกตการ แต่ปัจจุบัน ได้เลิกทำหน้าที่นี้ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม เวลา 10.00 น. วันพรุ่งนี้ (26ก.พ.56) เครือข่ายประชาชนเฝ้าระวังการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ปี56 จะเข้ายื่นหนังสือต่อประธานกกต.กทม. ขอให้เร่งแก้ปัญหา ให้กับกลุ่มผู้ถูกกระทำให้เสียสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่ดูแลตัวเองไม่ได้ รวมไปถึงน้องๆเยาวชนที่จะต้องสอบแกทแพท ได้ใช้สิทธิ์ในฐานะพลเมืองของกรุงเทพฯ